สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
แยกขยะทั้งโรงเรียน เพื่อนักเรียน น.พ.
โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์
กระบวนการพัฒนา

๑. ความเป็นมาและความสำคัญ

      นับตั้งแต่อดีตมาสู่ปัจจุบัน ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน และนับวันยิ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยทุกปีตามอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการอุปโภคบริโภคของประชาชน ในขณะเดียวกันปริมาณขยะมูลฝอยที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ แม้ว่าสำนักงานเขตหนองจอกซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ทั้งการจัดเก็บเคลื่อนย้าย ถึงแม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณขยะมูลฝอยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี 

      ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข  พ.ศ. ๒๕๓๕ หมวด ๓ การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย มาตรา ๑๘ ๒๐ มีกฎกระทรวงกำหนดประเภทของมูลฝอย  และวิธีการจัดการมูลฝอย ไม่ว่าจะเป็นมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยมีพิษ หรืออันตรายจากชุมชน            โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์กำลังประสบปัญหาในด้านการบริหารจัดการขยะเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนนักเรียน ปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่ และปัญหาขยะตกค้างต่างๆ ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในระยะยาว จะต้องสนับสนุนและขยายผลให้นักเรียนลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยจากร้านสวัสดิการของโรงเรียน โดยนำหลัก ๓Rs (Reduce Reuse and Recycle) มาใช้ร่วมกับการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลแก่นักเรียนที่เข้าร่วมกันคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ห้องเรียนเป็นอย่างดี เป็นต้น  ในการนี้โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์จึงได้จัดทำกิจกรรมธนาคารขยะ เพื่อสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการลดปริมาณขยะมูลฝอย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาด้านการสาธารณสุขและอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้นักเรียนมีสุขภาพที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างรายได้ให้กับนักเรียนอีกด้วย จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนร่วมกิจกรรมธนาคารขยะได้อย่างถูกต้อง ภายใต้แนวคิดแยกขยะ ทั้งโรงเรียนเพื่อนักเรียน น.พ.

๒. วัตถุประสงค์

๒.๑ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในบริเวณโรงเรียน ลดงบประมาณเพื่อการจัดการขยะมูลฝอย และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลมาจากขยะมีพิษ และสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ

๒.๒ เพื่อรณรงค์ และขยายผลสู่การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียน ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในบริเวณโรงเรียน บูรณาการความร่วมมือกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการ และรายวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

๓. กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน โดยทำเป็น FLOW

       - ปัญหา

          - ศึกษาสภาพปัญหา
          - แนวทางแก้ไขปัญหา
          - ดำเนินการ
          - ประเมินผล
          - สรุป

ปัญหา

๑. ร้านสวัสดิการฝั่งประถม ฝั่งมัธยม ร้าน น.พ. คาเฟ่ ร้านขายน้ำ และร้านขายลูกชิ้นทอดใน      โรงอาหารใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตมาจากพลาสติก เช่น ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก ฯลฯ

2. นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ และบางส่วนทิ้งขยะไม่เป็นที่


ศึกษาสภาพปัญหา

            จากการศึกษาสภาพปัญหา พบสาเหตุของปัญหาดังนี้

            ๑. โรงเรียนไม่มีมาตรการในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

๒. การดูแลการคัดแยกและการทิ้งขยะให้ถูกที่ ในช่วงเวลาเช้าก่อนเข้าเรียน และช่วงพักกลางวัน บริเวณโรงอาหาร ร้านสวัสดิการฝั่งประถม ฝั่งมัธยม และร้าน น.พ. คาเฟ่ และช่วงหลังเลิกเรียนเมื่อนักเรียนทำเวรประจำวันเสร็จเรียบร้อยแล้ว

๓. นักเรียนไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยก และการทิ้งขยะให้ถูกที่

แนวทางแก้ปัญหา

๑. นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อผู้บริหารสถานศึกษา

๒. ประชุมคณะครู และบุคลากรเพื่อวางแผนงาน

3. กำหนดวันเวลาในการดำเนินงานตามกิจกรรมต่าง ๆ และผู้รับผิดชอบ

4. ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงาน

5. ประเมินผล และสรุปผลการกิจกรรมต่าง ๆ

6. รวบรวมปัญหา และวางแผนเพื่อแก้ไขต่อไป

การดำเนินการ

แนวทางการฝึกปฏิบัติการคัดแยกขยะให้กับผู้เรียน โดยใช้หลัก ๓Rs (Reduce Reuse and Recycle) มีดังนี้

๑. โรงเรียนมีมาตรการในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

๒. จัดตารางเวรประจำวัน ให้ครูเวรคอยดูแลนักเรียนช่วงเวลาเช้าก่อนเข้าเรียน และช่วงพักกลางวัน บริเวณโรงอาหาร ร้านสวัสดิการฝั่งประถม ฝั่งมัธยม ร้าน น.พ. คาเฟ่ และช่วงหลังเลิกเรียนเมื่อนักเรียนทำเวรประจำวันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นักเรียนนำขยะจากห้องเรียนลงมาคัดแยกกับเจ้าหน้าที่ธนาคารขยะ

            ๓. เปิดเพลงแยกขยะทั้งโรงเรียนเพื่อนักเรียน น.พ.ในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน และช่วงหลังเลิกเรียนก่อนกลับบ้าน ในระหว่างที่เวรทำความสะอาดประจำวันของแต่ละห้องนำขยะลงมาคัดแยก

๔. จัดกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน มีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อนักเรียนจะได้ลงมือปฏิบัติ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยก และทิ้งขยะให้ถูกที่

            ๕. จัดกิจกรรมการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ

            ๖. จัดกิจกรรมการประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุเหลือใช้ และวัสดุรีไซเคิล

ประเมินผล

- สังเกตจากพฤติกรรมการคัดแยก และการทิ้งขยะของนักเรียน ระหว่างที่อยู่ในโรงเรียน

- สอบถามจากผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน

สรุป

ผู้เรียนได้รับการพัฒนาความสามารถในการคัดแยก ทิ้งขยะได้ถูกที่ และนำกลับมาใช้ให้ได้ประโยชน์

 

๔. ผลการดำเนินการ

            จากการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยก และทิ้งขยะให้ถูกที่ในบริเวณโรงเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากคณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากร และนักเรียน ผลปรากฏว่า ผู้เรียนให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ และทิ้งขยะให้ถูกที่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีตัวอย่างที่ดีจากคณะผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรในโรงเรียน  ทำให้มีนิสัยรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  และการเห็นคุณค่าของการนำขยะที่คัดแยกแล้วไปขาย หรือนำไปประดิษฐ์เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มีนิสัยประหยัดอดออม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศตามแนวคิด แยกขยะ ทั้งโรงเรียนเพื่อนักเรียน นพ. จึงส่งผลให้ผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับ

๑. ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการคัดแยก และทิ้งขยะให้ถูกที่มากยิ่งขึ้น

๒. ผู้เรียนปฏิบัติตามหลัก ๓Rs (Reduce Reuse and Recycle) ได้อย่างถูกต้อง

๓. ผู้เรียนมีความตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยก การทิ้งขยะให้ถูกที่ และนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

๔. ผู้เรียนมีระเบียบวินัยมากยิ่งขึ้น

๕. โรงเรียนมีความสะอาด และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มากยิ่งขึ้น   

 

๕. ปัจจัยความสำเร็จ

            ปัจจัยที่ส่งผลให้การปฏิบัติงานสำเร็จ มีดังนี้

            ๕.๑ การปฏิบัติงานโดยใช้วงจรคุณภาพ (PDCA)

                  การวางแผน (Plan) ฝ่ายบริหารมีการจัดประชุมครูเพื่อวางแผน ปรึกษา และมอบหมายงานต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายไปจัดเตรียมงานให้พร้อมก่อนดำเนินการ

                  การปฏิบัติตามแผน (Do) ผู้รับมอบหมายงานปฏิบัติงานตามคำสั่งอย่างเต็มกำลังความสามารถ ตามขั้นตอนการทำงาน เป้าหมาย คือ ผลงานทุกอย่างมีคุณภาพ

การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน (Check) สถานศึกษามีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ หากพบปัญหาหรืออุปสรรคที่ส่งผลให้งานไม่บรรลุตามเป้าหมาย  จะรีบแก้ไขให้ทันเหตุการณ์ งานใดบกพร่องต้องรีบปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว

การปรับปรุงแก้ไข (Act) เมื่องานเสร็จสิ้น ก็จะประชุมครูเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

            ๕.๒ การสนับสนุนจากชุมชน

ศึกษาดูงานโครงการโรงเรียนส่งเสริมสิ่งแวดล้อม โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วย สำนักงานเขต  หนองจอก กรุงเทพมหานคร  ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศโรงเรียนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรางวัลชมเชยโรงเรียนปลอดขยะระดับประเทศ

 ๖. บทเรียนที่ได้รับ

๑. การส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และลงมือปฏิบัติในการคัดแยกได้อย่างถูกต้อง ทิ้งได้ถูกที่ และนำกลับใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ทำให้สถานศึกษาโดดเด่นในเรื่องการแยกขยะทั้งโรงเรียนตั้งแต่คณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากร และนักเรียน จึงได้รับการชื่นชม และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้อำนวยการเขตหนองจอก หัวหน้าฝ่ายการศึกษา และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาด และสวนสาธารณะในการประเมิน และติดตามการดำเนินการโครงการทำดีด้วยหัวใจลดภัยสิ่งแวดล้อม

๒. การดำเนินงานโดยใช้วงจรคุณภาพ (PDCA) ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ คณะผู้บริหารกำหนดแผนงานร่วมกับคณะครู ครูนำไปปฏิบัติตามแผนงานที่ได้รับมอบหมาย มีการตรวจสอบเพื่อค้นหาปัญหา และวิธีแก้ไขที่เหมาะสม มีการวางแนวทางในการปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

 

๗. การเผยแพร่ การได้รับการยอมรับ รางวัลที่ได้รับ

            ๑. ผู้อำนวยการเขตหนองจอก หัวหน้าฝ่ายการศึกษา และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาด และสวนสาธารณะ

            ๒. โรงเรียนในเครือข่ายที่ ๔๕

 


ผลจากการปฏิบัติ

จากการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยก และทิ้งขยะให้ถูกที่ในบริเวณโรงเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากคณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากร และนักเรียน ผลปรากฏว่า ผู้เรียนให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ และทิ้งขยะให้ถูกที่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีตัวอย่างที่ดีจากคณะผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรในโรงเรียน  ทำให้มีนิสัยรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  และการเห็นคุณค่าของการนำขยะที่คัดแยกแล้วไปขาย หรือนำไปประดิษฐ์เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มีนิสัยประหยัดอดออม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศตามแนวคิด แยกขยะ ทั้งโรงเรียนเพื่อนักเรียน นพ. จึงส่งผลให้ผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ต่อไป