สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
การพัฒนาการอ่านอย่างยั่งยืนสู่คุณภาพวิชาการที่เป็นเลิศด้วยการทำงานเป็นทีม
โรงเรียนคชเผือกอนุสรณ์
กระบวนการพัฒนา

   การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  จะประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดนั้น  แนวทางจัดกิจกรรมต้องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้  คิดเป็น  รักการอ่าน  และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง  ผู้เรียนจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญมาก  การพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้กว้างไกล  อาจทำได้โดยให้ผู้เรียนรักการอ่าน  เพราะในปัจจุบันการอ่านเป็นทักษะที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต  ที่เราจะต้องสัมผัสตลอดเวลา  เป็นการสร้างการสื่อสารให้เกิดวามเข้าใจอันดีต่อกัน  เป็นอาหารสมองช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  การตัดสินใจแก้ปัญหาได้ถูกต้อง  ทำให้เป็นคนทันสมัย  ทันโลก  ทันเหตุการณ์  ทั้งเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

              โรงเรียนคชเผืออนุสรณ์เห็นความสำคัญของการอ่าน  จึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้  ฝึกฝน  โดยใช้ทักษะการอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งส่งเสริมช่วยเหลือนักเรียนด้านการอ่านให้เกิดผลอย่างยั่งยืน  ด้วยการพัฒนาโดยวิธีการทำงานเป็นทีมอย่างเข้มแข็งของบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน  มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม  จะเห็นได้จากรางวัลโรงเรียนรักการอ่านยอดเยี่ยมที่ได้รับ  เกิดจากการผลของการปฏิบัติกิจกรรมที่ส่งเสริมการอ่านมาโดยตลอด  ซึ่งได้มีการวางแผน  พัฒนา  ปรับปรุง  ตามกระบวนการ PDCA  มีการทำ PLC ซึ่งเป็นการรวมตัว รวมใจ รวมพลัง ร่วมมือกันของครู ผู้บริหาร และบุคลากรในโรงเรียน เพื่อพัฒนาการนักเรียนด้านการอ่านอันจะเป็นนำไปสู่คุณภาพทางวิชาการที่เป็นเลิศ  นอกจากนี้ยังการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาการอ่านยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์และการเรียนรู้ของนักเรียนอีกด้วย  

แนวทางการดำเนินงาน

               เป็นวิธีการพัฒนาที่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทุกคนทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อพัฒนาการอ่านของนักเรียนทุกคนอย่างเป็นระบบ ดำเนินการสม่ำเสมอต่อเนื่อง เห็นผลการพัฒนาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม นำไปสู่คุณภาพวิชาการของนักเรียนที่เป็นเป็นเลิศ เป็นที่ชื่นชมยอมรับของทุกฝ่าย

ลำดับขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

       ขั้นที่ ๑ วางแผนและเตรียมการ

               ผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนร่วมกันวางแผนและเตรียมการทุกอย่างเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนาการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 ให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

      ขั้นที่ ๒  กำหนดกิจกรรมและประชุมชี้แจง

               ผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนร่วมกันกำหนดกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาการอ่านของนักเรียน กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ ความตระหนัก ความสำนึกรับผิดชอบต่อกิจกรรมที่มีประโยชน์มีคุณค่านี้อย่างเต็มที่ ตั้งใจร่วมกันแก่ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคน

               สำหรับกิจกรรมที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาการอ่านนำมาจากกิจกรรมในโครงการโรงเรียนรักการอ่าน (ตามผังมโนทัศน์)  ประกอบด้วย กิจกรรมส่งเสริม ๘ กลุ่มสาระและปฐมวัย  กิจกรรมห้องสมุด  จากนั้นได้ดำเนินการ PLC  เพื่อจัดกระบวนการพัฒนาการอ่านแบ่งเป็น ๔ ส่วน ตามการคัดกรองความสามารถทางการอ่านของนักเรียนคือ อ่านออก  อ่านคล่อง  อ่านไม่คล่องและเด็กที่มีความต้องการช่วยเหลือพิเศษ  และการอ่านปฐมวัย  นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมให้พัฒนาได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง   โดยกิจกรรมและโครงการเด่นที่ใช้ในการพัฒนาการอ่าน เช่น  กิจกรรมพี่สอนน้องอ่าน กิจกรรมพัฒนานักเรียนอ่านไม่คล่องโดยใช้การจับคู่บัดดี้ครูนักเรียน กิจกรรมมุมรักการอ่านในห้องเรียน โครงการพัฒนานักเรียนแบบมีส่วนร่วม  โครงการงานวิจัยในชั้นเรียน  โครงการสถานีโทรทัศน์ช้างน้อยสู่ห้องเรียนรักการอ่าน โครงการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว เป็นต้น

      ขั้นที่ ๓ มอบหมายทีมงานผู้รับผิดชอบ

               มอบหมายครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนร่วมเป็นทีมงานในการพัฒนาการอ่านของนักเรียนทุกคน มอบหมายอย่างเท่าเทียมกันให้มากที่สุดและยืดหยุ่นให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้รับมอบหมายให้มากที่สุด

      ขั้นที่ ๔ ดำเนินกิจกรรม

               ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับมอบหมายกิจกรรมทุกคน ร่วมกันปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจ เต็มที่ อย่างมีความสุข สม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ

      ขั้นที่ ๕ กำกับ ติดตาม และประเมินผล

               การกำกับ ติดตาม และประเมินผลโดยตรง สม่ำเสมอโดยผู้บริหารสถานศึกษา และจากหัวหน้าฝ่ายวิชาการและหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยด้วยการประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยประเมินผลสืบเนื่องหรือที่ส่งผลต่อคุณภาพวิชาการอื่นๆ ด้วยอย่างละเอียด

      ขั้นที่ 6 แก้ไข ปรับปรุง

               ผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนร่วมกันพิจารณา แก้ไข ปรับปรุงการจัดกิจกรรมพัฒนาการอ่านเพื่อให้มีผลการพัฒนาที่สูงขึ้น สัมฤทธิ์ผลบรรลุตามเป้าหมาย

      ขั้นที่ 7 จัดทำรายงานและการเผยแพร่ผลงาน

               ร่วมกันจัดทำรายงานและเผยแพร่ผลงานโดยทีมงานที่ได้รับมอบหมายไว้แล้ว เสนอรายงานต่อ   ผู้ที่เกี่ยวข้องตามลำดับ และเผยแพร่ผลงานด้วยวิธีการที่หลากหลายช่องทาง



ผลจากการปฏิบัติ

ผลการดำเนินการ 

             1 ครูและบุคลากรทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม ร้อยละ 100

               2. ครูและบุคลากรทุกคนพึงพอใจต่อการร่วมกิจกรรม ระดับมากที่สุด

               3. ครูและบุคลากรทุกคนพึงพอใจต่อความสำเร็จของกิจกรรม ระดับมากที่สุด

             4. นักเรียนได้รับการพัฒนาการอ่านให้ดีขึ้น ร้อยละ 98

              5. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 อ่านออกทุกคน

               6. จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่คล่องมีจำนวนน้อยลง มีจำนวนร้อยละ 4

              7. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

             8. ได้รับรางวัลในระดับต่างๆ มากมายด้านการอ่าน และด้านวิชาการ

            9. การได้รับการยอมรับ การชื่นชมจากผู้ปกครอง หรือทุกฝ่าย ในระดับมากที่สุด

                ซึ่งความสำเร็จในระดับยอดเยี่ยมด้านการอ่าน และคุณภาพวิชาการที่เป็นเลิศอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้จากความเป็นเลิศที่มาจากความร่วมมือ การทำงานเป็นทีมที่เป็นหนึ่งเดียวร่วมกันอย่างเป็นระบบ เต็มที่    เต็มใจ มีความสุข ตั้งใจ อย่างต่อเนื่องของทุกคนร่วมกัน ด้วยกิจกรรมที่ง่ายๆ แต่น่าสนใจ ยึดความถี่ ความสม่ำเสมอเป็นสำคัญ ภายใต้การบริหารจัดการ การเป็นผู้นำ ผู้ตาม ผู้อำนวยการสนับสนุน ผู้กำกับ ติดตาม ผู้แก้ปัญหา และเป็นในทุกบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีวิสัยทัศน์และจิตวิญญาณในการพัฒนานักเรียน ครู และโรงเรียนอย่างแท้จริง ซึ่งคุณภาพหรือความเป็นเลิศจะเกิดขึ้นได้น้อยมากหรือไม่เกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่ประกอบด้วยสิ่งสำคัญที่กล่าวมา