สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
การจัดประสบการณ์โดยใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์บูรณาการ (BBL) FOR ART LEARNING
โรงเรียนวัดสะแกงาม
กระบวนการพัฒนา

          สาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครู ผู้เรียน สื่อและแหล่งการเรียนรู้ทั้งระบบของการจัดการเรียนรู้โดยองค์รวมการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และให้ความสำคัญกับการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ ดังนั้นการจัดการเรียนรู้จึงต้องเน้นถึงความสนใจของผู้เรียนบนฐานแนวคิดที่หลากหลาย และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาชาติ มาตราที่ 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้คู่คุณธรรม มีจริยธรรม คุณธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  รวมถึงเน้นการพัฒนาจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และเน้นการสร้างคุณธรรมจริยธรรม จิตสำนึกสาธารณะให้เกิดกับผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลตามสนใจและความถนัดตามวุฒิภาวะของผู้เรียน  การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย  นับว่าเป็นการจัดการเรียนรู้ในช่วงวัยที่สำคัญมาก  เพราะเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ศักยภาพของการเรียนรู้ของเด็กเจริญงอกงามอย่างรวดเร็วมากถ้าได้รับการพัฒนาอย่างเข้าใจ                   

          นอกจากนี้พัฒนาการทางร่างกาย  อารมณ์  สังคม  และสติปัญญา  ก็สามารถส่งเสริมให้พัฒนาขึ้นได้เป็นปริมาณมากด้วยกิจกรรมการเรียนรู้บนฐานของความเข้าใจด้วยเช่นกัน   เป็นที่ยอมรับกันว่าการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ  ของเด็กปฐมวัย  รวมทั้งการส่งเสริมศักยภาพทางการเรียนรู้ของเด็กผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทางศิลปะ  เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้  ทั้งนี้เพราะกิจกรรมศิลปะสนุก  จะและสามารถกระตุ้นความสนใจของเด็กให้อยากเรียนรู้ศิลปะได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เด็กปฐมวัยชอบแสดงออกทางศิลปะ นอกจากนี้กิจกรรมศิลปะยังเป็นกิจกรรมที่สามารถตอบสนองการแสดงออกทางด้านจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้อย่างอิสระเพราะ เป็นกิจกรรมที่ยืดหยุ่นไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องความถูก หรือผิด มากำหนด  กิจกรรมศิลปะเกี่ยวข้องกับเรื่องของความชอบ  ของผู้แสดงออกมากกว่า  จึงมีธรรมชาติของกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจของเด็กปฐมวัย อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาเด็กผู้จัดกิจกรรมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ  ในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างดีเพราะการสอนศิลปะเป็นดาบสองคม  หากผู้จัดกิจกรรมหรือผู้สอนศิลปะเข้าใจเด็กก็เป็นเรื่องที่ดี  แต่ถ้าพัฒนาอย่างขาดความเข้าใจแทนที่จะส่งเสริมพัฒนาเด็กอาจกลายเป็นการทำลายไปเสียก็ได้                                                                                           

           การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้วิธีคิดการใช้ชีวิต และการทำงานซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนรู้ สำหรับเด็กในยุคดิจิทัลที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องคำนึงถึงรวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้การสอนแบบบูรณาการทักษะความคิดสร้างสรรค์โดยผ่านกระบวนการทางศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้แบบไม่ใช่การท่องจำ แต่การจำเป็นฐานของการเรียนรู้ การจำทำให้คนเกิดวิธีการสร้างความจำ มีหลายวิธีโดยเฉพาะที่ใช้กันมากคือท่องจำ เขียนซ้ำหลาย ๆ จบ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความจำระยะสั้น การเข้าใจจะทำให้เกิดความจำระยะยาวส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้าเสริมซ้ำจะทำให้การจำระยะยาวมีเพิ่มมากขึ้น การใช้ศิลปะอย่างหนึ่งคือการนำศิลปะมาย้ำการเรียนรู้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ครูสามารถจัดเป็นกิจกรรมขณะเรียนหรือให้เป็นการบ้าน ด้วยการให้ระบายสีลงในรูปภาพที่เรียน ตัวอย่างเช่น เด็กเรียน ก. ไก่แล้ว เพื่อให้จำได้ ครูมอบหมายให้เด็กระบายสีอักษร ก. และระบายสีภาพไก่ในใบงานต่อไปนี้ ศิลปะย้ำนี้ใช้ เพื่อสร้างเสริมการจำจากความประทับใจขณะทำกิจกรรมศิลปะ สมองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา การที่จะพัฒนาการทำงานของสมองนั้นต้องอาศัยการจัดกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นให้สมองทั้ง 2 ซีก กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning: BBL) โดยใช้รูปแบบสนามเด็กเล่น กิจกรรมนี้จะเป็นการให้ผู้เรียนได้เสริมสร้างสมองโดยการออกกำลังกายที่อันจะส่งผลให้สมองทั้ง 2 ซีกและกล้ามเนื้อมีการพัฒนา ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ทฤษฎีศิลปะและศิลปะปฏิบัติและนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้    จะเห็นได้ว่าการสร้างสรรค์ คือการ เจริญงอกงามทั้งด้านความคิด ร่างกาย และ พฤติกรรม และศิลปะคือ เครื่องมือที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพราะ กระบวนการทางศิลปะไม่มีขอบเขตแห่งการสิ้นสุด สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้แก่เด็กได้ตลอด เวลานอกจากนี้ยังช่วยให้เด็ก เกิดความคิดที่ต่อเนื่องอย่างไม่จบสิ้น สิ่งที่ตนคิดและรู้สึกโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารทางตัว อักษรได้ดีทำให้เด็กรักการทำงานและมีความภาคภูมิใจในตนเองและก้าวไปยังโลกแห่ง จินตนาการอย่างไม่มีขอบเขต ดังนั้นทางโรงเรียนวัดสะแกงาม สำนักงานเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จึงได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ครู บุคลากรในระดับปฐมวัย เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือก และสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย และสามารถนำผลการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้

           การเรียนรู้ศิลปะนั้นเป็นการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะ กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งต้องอาศัยทั้งจินตนาการ ความคิด การวิเคราะห์ ตลอดจนการสังเคราะห์เพื่อสร้างผลงานศิลปะขึ้นมา   สมองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา การที่จะพัฒนาการทำงานของสมองนั้นต้องอาศัยการจัดกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นให้สมองทั้ง 2 ซีก กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning: BBL) โดยใช้รูปแบบ

5 ขั้นตอน การเรียนรู้แบบ BBL (Brain Based Learning )

เป็นขั้นตอนและวิธีการ ออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมองที่คุณครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      ขั้นตอนที่ 1 : เตรียมความพร้อม (Warm Up) เพื่อเป็นการกระตุ้นสมอง ตามหลักการทำงานของสมอง เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีความสุข สมองจะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งสารนี้มีความสำคัญมาก ช่วยให้มีจิตใจที่สงบและเกิดสมาธิ ซึ่งจะแตกต่างจาก เอนดอร์ฟิน (Endorphin) และ โดพามีน (Dopamine) ที่จะช่วยให้มีความสุขและสนุกสนาน ซึ่งนับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยทางโรงเรียนได้กำหนดไว้ว่า กิจกรรมเคลื่อนไหวทุกชั่วโมงที่ครูเข้าสอน ครูจะต้อง Warm Up ก่อนเสมอ โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที

            ขั้นตอนที่ 2 : เรียนรู้ (Learning Stage) ในขั้นตอนนี้จะคำนึงถึงหลักการทำงานของสมองที่ว่า  เรียนรู้จากง่ายไปหายาก เรียนรู้จากของจริง และจากการสัมผัสจากการศึกษาทางประสาทวิทยาศาสตร์พบว่า มือเป็นอวัยวะที่มีประสาทสัมผัสที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ดีที่สุด รองลงมาคือ ปากนั่นก็หมายถึง ต้องให้เด็กพูด หรือสื่อสารจะช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงเรื่องได้ ดังนั้น กิจกรรมเสริมประสบการณ์การออกแบบรูปแบบการสอน สื่อการสอน โดยคุณครูคำนึงถึงหลักการทำงานของสมองอย่างมาก การเรียนการสอนจึงจะประสบความสำเร็จ ในขั้นตอนที่ 2 นี้ มีขั้นตอนย่อยที่สำคัญหนึ่งคือ การสรุปในแต่ละชั่วโมงทางโรงเรียนได้สนับสนุนให้มีการฝึกอบรม ตลอดจนหนังสือที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คุณครูใช้เป็นเครื่องมือในการสรุปที่ช่วยให้เด็กเกิดความสนุก เกิดการเรียนรู้ และจดจำได้ง่ายขึ้น

            ขั้นตอนที่ 3 : ขั้นการฝึก ขั้นนี้จะสอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองที่ว่า สมองจะจดจำได้ดีนำไปสู่ความจำระยะยาว (Long-term Memory) ต้องผ่านกระบวนการฝึกซ้ำๆคำว่า ซ้ำๆในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การทำโจทย์เดิมซ้ำๆ แต่หมายถึงการใช้หลักการ เช่น หลักการบวก ก็นำไปใช้กับการบวกที่แตกต่างกันออกไปในโจทย์ คุณครูจึงจำเป็นต้องออกแบบใบงานที่แตกต่างออกไป เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนเรื่อยๆ


    ขั้นตอนที่ 4 : ขั้นการสรุป ขั้นนี้เป็นการสรุปเมื่อจบบทเรียนหรือหน่วย ซึ่งแตกต่างจากขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นการสรุปในแต่ละชั่วโมง ในขั้นตอนนี้เป็นการเชื่อมโยงความรู้ทั้งหน่วย โดยใช้คำถาม ฝึกให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้ภายในบทเรียน สอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองที่ว่า สมองเรียนรู้เป็นองค์รวมซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญต่อเด็กมาก และเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยาก ครูเองก็จำเป็นต้องฝึกฝนบ่อยๆ เช่นกัน

ขั้นตอนที่ 5 : ขั้นการประยุกต์ใช้ทันทีทันใด การที่เด็กเรียนแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้นั้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ถึงร้อยละ 90 ดังนั้น เมื่อจบบทเรียน คุณครูต้องคิด ต้องออกแบบ เชื่อมโยงความรู้ทั้งหน่วย นำใบงานมาให้เด็กวาดภาพ  ต่อเติมจากสิ่งที่ได้รับความรู้มาต่อยอดความรู้โดยองค์รวม        








ผลจากการปฏิบัติ

  ผลจากการนำหลักการพัฒนาสมองมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย

   ผลที่เกิดขึ้นกับครู : ทำให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง ครูมีความสุข กระตือรือร้นในการทำงาน มีความมั่นใจและเกิดความท้าทายในการประกอบวิชาชีพครู

 ผลที่เกิดกับนักเรียน : นักเรียนมีความสุข มีสมาธิ มีวินัยมากขึ้น มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และกล้าแสดงออกมากขึ้น นอกจากนี้นักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านและการเขียน มีพัฒนาการทางความคิด สามารถเชื่อมโยงความรู้และคิดวิเคราะห์ได้   ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการนำหลักการพัฒนาสมองมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวัดสะแกงามนั้น สามารถกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งได้เห็นถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งต่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี 


เอกสารเพิ่มเติม :[ดาวน์โหลดเอกสาร]