สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
การดำเนินการแก้ปัญหาการอ่านของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
โรงเรียนวิชากร
กระบวนการพัฒนา

       การอ่านเป็นทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ นักเรียนควรได้รับการพัฒนาทักษะการอ่านอย่างเหมาะสม โรงเรียนวิชากร สำนักงานเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแก้ปัญหาการอ่านของนักเรียนโดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายซึ่งจะช่วยในการพัฒนาทักษะการอ่านของผู้เรียนได้ ดังนี้

          1. การพัฒนาจากครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยการจัดกิจกรรม PLC เรื่อง การพัฒนาการอ่านด้วยบันไดทักษะ 4 ขั้น ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ซึ่งการจัดการเรียนรู้ตามหลัก "บันไดทักษะ 4 ขั้น” ของ ศิวกานต์ ปทุมสูติ มีขั้นตอนดังนี้

   ขั้นที่หนึ่ง แจกลูก ให้ผูกจำ ในขั้นตอนนี้ครูผู้สอนจะนำคำที่นักเรียนควรทราบจากบทเรียนมาฝึกให้นักเรียนอ่านคำโดยใช้วิธีอ่านสะกดคำทีละคำและฝึกอ่านพร้อมกับครู

   ขั้นที่สอง อ่านคำ ย้ำวิถี  ในขั้นตอนนี้ให้นักเรียนฝึกสะกดคำและอ่านออกเสียงด้วยตนเองอีกครั้ง

   ขั้นที่สาม คัดลายมือ ซ้ำอีกที ให้นักเรียนคัดคำที่ได้เรียนรู้ลงในสมุดจดบันทึก

   ขั้นที่สี่ "เขียนตามคำบอก" ทุกชั่วโมง ครูฝึกใ?ห้นักเรียนเขียนตามคำบอกจากคำในบทเรียน

ซึ่งครูผู้สอนในกลุ่มสาระภาษาไทยจะนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแผนการจัดการเรียนรู้ของตน ซึ่งอาจจะสอดแทรกขั้นตอนดังกล่าวในขั้นนำขั้นสอน หรือขั้นสรุปตามความเหมาะสมของเนื้อหาและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น


2. การทดสอบการอ่านรายเดือน เพื่อเป็นการประเมินความสามารถการอ่านของนักเรียนในแต่ละเดือน โดยครูประจำชั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประเมินทักษะการอ่านของนักเรียน ขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรมมีดังนี้

2.1 ครูประจำชั้นรับเอกสารประเมินการอ่านประจำเดือนจากครูผู้รับผิดชอบกิจกรรม

2.2 ครูประจำชั้นดำเนินการทดสอบการอ่านและประเมินผลการอ่านของนักเรียน

2.3 ครูประจำชั้นรายงานผลการประเมินการอ่านและส่งผลการประเมินการอ่านประจำเดือนให้กับครูผู้รับผิดชอบกิจกรรม

2.4 ครูประจำชั้นซ่อมเสริมการอ่านนอกเวลาให้แก่นักเรียนที่มีผลการประเมินในระดับควรปรับปรุง

3. การจัดกิจกรรมอุ้มบุญ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยพัฒนาการอ่านของนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง โดยขั้นตอนการดำเนินงานมีดังนี้

3.1 ครูประจำชั้นและครูประจำวิชาภาษาไทย ประเมินทักษะการอ่านของนักเรียนในชั้นเรียนของตนเอง และรวบรวมรายชื่อนักเรียนที่อ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง

3.2 ประชุมเพื่อวางแผนการดำเนินงานกิจกรรมอุ้มบุญ โดยให้ครูทุกท่านรับผิดชอบการพัฒนาทักษะการอ่านให้กับนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง ครู 1 ท่านต่อนักเรียน 3 คน

3.3 ครูดำเนินการตามแผนปฏิบัติงาน นัดหมายนักเรียนฝึกอ่านในช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกเรียน และเขียนรายงานการพัฒนาการอ่านในแบบบันทึกการพัฒนาการอ่านกิจกรรมอุ้มบุญ


ผลจากการปฏิบัติ

การดำเนินการแก้ปัญหาการอ่านของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติดังนี้

          1. นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 156 คน สามารถอ่านภาษาไทยได้ คิดเป็นร้อยละ 100

          2. ผลการทดสอบการอ่านระดับชาติ (Reading Test: RT) ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2562 มีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านออกเสียง 90.62 คะแนนและการอ่านรู้เรื่อง 91.72 คะแนน รวมทั้ง 2 ด้านมีคะแนนเฉลี่ย 91.17 คะแนน 


เอกสารเพิ่มเติม :[ดาวน์โหลดเอกสาร]