สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
โรงเรียนดี วิถีอิสลาม
โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์
กระบวนการพัฒนา

๑. ความเป็นมาและความสำคัญ
    บทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ส่งเสริมให้ทุกคนกระทำความดี ละเว้นความชั่ว ยึดมั่นในคำปฏิญาณตน หลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลามครอบคลุมในทุกๆด้านของการดำเนินชีวิต สอดคล้องกับยุคสมัย   มีหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติตนเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต การปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามจะส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความเมตตา กรุณา มีวินัย พอใจในสิ่งที่ตนเองมี นอบน้อมถ่อมตน ไม่อิจฉา ไม่โลภ ให้อภัย อดทน มีใจปรารถนาดีและช่วยเหลือผู้อื่น มีความพอเพียงฯลฯ ช่วยขัดเกลาจิตใจให้เจริญเติบโตเป็นบุคลากรที่มีความรู้ควบคู่คุณธรรมในอนาคต ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  มาตรา 6  การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ (3Rs 8Cs) ข้อที่ ๘ ความมีเมตตา กรุณา มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม (Compassion) จากความสำคัญของคุณลักษณะดังกล่าว โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๙๔.05 จึงจัดการศึกษาที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนให้ดำเนินชีวิตตามวิถีของศาสนาอิสลาม เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณลักษณะตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ แต่จากการสังเกตพฤติกรรม พบว่า นักเรียนโรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม ปฏิบัติศาสนากิจตามหลักศาสนาอิสลามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง เช่น กล่าวคำปฏิญาณตนไม่ได้ ไม่เคยฝึกฝนการถือศิล-อด ในเดือนรอมฏอน ฯลฯ สอดคล้องกับการตอบแบบสอบถามของผู้ปกครองเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามของนักเรียน พบว่า นักเรียนปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามอยู่ในระดับปานกลาง  มีค่าเฉลี่ยรวมทั้งฉบับเท่ากับ 3.48  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ปกครองขาดการส่งเสริมในการเรียนรู้เรื่องของหลักการศาสนา รวมทั้งต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดในการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนา ผู้เรียนไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจ ฯลฯ
    โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน และเป็นอีกหน่วยงานที่จะช่วยดูแลและพัฒนาผู้เรียนให้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้อง ภายใต้แนวคิด “โรงเรียนดี วิถีอิสลาม”

๒. วัตถุประสงค์
          ๒.๑ เพื่อฝึกทักษะชีวิตให้กับผู้เรียน โดยใช้หลักการของศาสนาอิสลาม
          ๒.๒ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาได้อย่างถูกต้อง
          ๒.๓ เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้กับผู้เรียน

๓. กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน โดยทำเป็น FLOW
          - ปัญหา
          - ศึกษาสภาพปัญหา
          - แนวทางแก้ไขปัญหา
          - ดำเนินการ
          - ประเมินผล
          - สรุป

ปัญหา
          ๑. ขาดการส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนา
          ๒. ปฏิบัติศาสนากิจตามหลักศาสนาอิสลามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง

ศึกษาสภาพปัญหา
    จากการศึกษาสภาพปัญหา พบสาเหตุของปัญหาดังนี้
          ๑. ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ในการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนา
          ๒. ผู้เรียนไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม
แนวทางแก้ปัญหา
          ๑. นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อผู้บริหารสถานศึกษา
          ๒. ประชุมคณะครูและบุคลากรเพื่อวางแผนงาน
          ๓. กำหนดวันเวลาในการดำเนินงานตามกิจกรรมต่างๆและผู้รับผิดชอบ
          ๔. ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงาน
          ๕. ประเมินผลและสรุปผลการกิจกรรมต่างๆ
          ๖. รวบรวมปัญหาและวางแผนเพื่อแก้ไขต่อไป

การดำเนินการ
แนวทางการฝึกทักษะชีวิตให้กับผู้เรียน โดยใช้หลักการของศาสนาอิสลาม มีดังนี้
          ๑. ให้ผู้เรียนกล่าวคำปฏิญาณตนเป็นประจำทุกวัน
          ๒. จัดกิจกรรมอบรมจริยธรรมประจำวัน
          ๓. ให้ผู้เรียนอ่านทบทวนคัมภีร์ อัลกุร-อาน เป็นประจำทุกวัน
          ๔. จัดกิจกรรมละหมาดให้กับผู้เรียนในทุกระดับชั้น โดยมีครูเป็นผู้ควบคุมดูแล
          ๕. จัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ
          ๖. จัดกิจกรรมค่ายคุณธรรมนำชีวิต
          ๗. สนับสนุนให้ผู้เรียนถือศิล-อด ในเดือนรอมฏอน
          ๘. สนับสนุนให้ผู้เรียนแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม
          ๙. จัดกิจกรรมของหายได้คืน
         ๑๐. จัดกิจกรรมปันน้ำใจเพื่อคลายทุกข์
         ๑๑. จัดทำโครงการโรงเรียนธนาคาร(อิสลาม)หนองจอกพิทยานุสรณ์
         ๑๒. ส่งเสริมให้นักเรียนรักษาความสะอาด ด้วยการอาบน้ำละหมาด
         ๑๓. ส่งเสริมให้นักเรียนรักษาเวลา ด้วยการร่วมปฏิบัติศาสนกิจอย่างพร้อมเพรียงกัน
                                                           ฯลฯ
ประเมินผล
          สังเกตจากพฤติกรรมการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันตามวิถีอิสลาม

สรุป
          ผู้เรียนได้รับการพัฒนาและมีทักษะชีวิตตามหลักศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง


 


ผลจากการปฏิบัติ

๔. ผลการดำเนินการ
           จากการส่งเสริมให้ผู้เรียนปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามในโรงเรียน ผลปรากฏว่า ผู้เรียนมีทักษะชีวิตตามวิถีของอิสลาม กล่าวคือ ผู้เรียนกล่าวคำปฏิญาณตนเป็นประจำทุกวันเพื่อขัดเกลาจิตใจของตนเอง อ่านและท่องจำคัมภีร์อัลกุร-อาน ละหมาดและปฏิบัติท่าทางในการละหมาดได้ถูกต้อง ถือเป็นการฝึกสมาธิของตนเอง มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ผู้เรียนฝึกถือศิล-อดในเดือนรอมฏอน ซึ่งถือเป็นการฝึกความอดทน เป็นการปรับสภาพร่างกายและฝึกจิตใจให้มีความอ่อนโยน ให้ความสำคัญกับการแต่งกายที่ถูกต้อง งดงามตามหลักศาสนาอิสลาม มีเมตตาและรู้จักการเป็นผู้ให้ในกิจกรรมปันน้ำใจเพื่อคลายทุกข์ มีนิสัยประหยัดอดออม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝากเงินกับโรงเรียนธนาคาร(อิสลาม) ที่ปราศจากดอกเบี้ย มีคุณธรรม จริยธรรมเพิ่มมากขึ้น
              ประโยชน์ที่ได้รับ
          ๑. ผู้เรียนมีทักษะชีวิตตามวิถีอิสลาม
          ๒. ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้น
          ๓. ผู้เรียนปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาได้อย่างถูกต้อง
          ๔. ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม
          ๕. ผู้เรียนมีความเมตตากรุณา มีวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม 
๕. ปัจจัยความสำเร็จ
              ปัจจัยที่ส่งผลให้การปฏิบัติงานสำเร็จ มีดังนี้
              ๕.๑ การปฏิบัติงานโดยใช้วงจรคุณภาพ (PDCA)
        - การวางแผน (Plan) ฝ่ายบริหารมีการจัดประชุมครูเพื่อวางแผน ปรึกษาและมอบหมายงานต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายไปจัดเตรียมงานให้พร้อมก่อนดำเนินการ
        - การปฏิบัติตามแผน (Do) ผู้รับมอบหมายงานปฏิบัติงานตามคำสั่งอย่างเต็มกำลังความสามารถ ตามขั้นตอนการทำงาน เป้าหมายคือผลงานทุกอย่างมีคุณภาพ
        - การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน (Check) สถานศึกษามีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ หากพบปัญหาหรืออุปสรรคที่ส่งผลให้งานไม่บรรลุตามเป้าหมาย จะรีบแก้ไขให้ทันเหตุการณ์ งานใดบกพร่องต้องรีบปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว
        - การปรับปรุงแก้ไข (Act) เมื่องานเสร็จสิ้น ก็จะประชุมครูเพื่อสรุปผลการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
              ๕.๒ การสนับสนุนจากชุมชน
          คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการผู้ปกครองเครือข่าย ผู้ปกครอง ชุมชน และมูลนิธิอัล-ฮุดา มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) นี้เป็นอย่างมาก เพราะจุดเด่นของชุมชนนี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ การปฎิบัติตนตามวิถีอิสลาม ซึ่งสถานศึกษาปฏิบัติงานที่เป็นเลิศภายใต้แนวคิด “โรงเรียนดี วิถีอิสลาม” ถือเป็นสิ่งที่ชุมชนพึงพอใจมากที่สุด
              ๕.๓ การสนับสนุนจากวิทยากร
         สถานศึกษาได้รับการสนับสนุนจากวิทยากรภายนอก เช่น วิทยากรอิสลามศึกษา ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฎิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลาม ส่วนผู้เรียนที่นับถือศาสนาพุทธ สถานศึกษาได้นำผู้เรียนไปเข้าค่ายคุณธรรมนำชีวิตที่วัดหนองจอก โดยมีพระวิทยากรเป็นผู้อบรมและให้ความรู้
๖. บทเรียนที่ได้รับ
          ๑. การส่งเสริมให้ผู้เรียนปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้อง ทำให้สถานศึกษาโดดเด่นในเรื่องการดำเนินชีวิตตามวิถีอิสลาม เรียนรู่คู่คุณธรรม จึงได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก
          ๒. การดำเนินงานโดยใช้วงจรคุณภาพ (PDCA) ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ คณะผู้บริหารกำหนดแผนงานร่วมกับคณะครู ครูนำไปปฏิบัติตามแผนงานที่ได้รับมอบหมาย มีการตรวจสอบเพื่อค้นหาปัญหาและวิธีแก้ไขที่เหมาะสม มีการวางแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป