สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
โครงการโรงเรียนความดีมาตรฐานสากล
โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง
กระบวนการพัฒนา

โรงเรียนดำเนินการโดยนำความดีสากล ซึ่งหมายถึง คุณลักษณะพื้นฐานที่มนุษย์ทุกกคนต้องมี

เพื่อพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพ และพัฒนาสังคมให้มีความเจริญงอกงาม และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

โดยคุณลักษณะเหล่านี้จะต้องฝึกฝนเป็นประจำทุกวันจนเป็นนิสัย ซึ่งหลักความดีสากล 5 ประการที่ครูและนักเรียนของโรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบังยึดถือปฏิบัติ ได้แก่ ความสะอาด ความเป็นระเบียบ

ความสุภาพ ความตรงต่อเวลา การมีสมาธิ โดยมีความหมาย ดังนี้

          1. ความสะอาด หมายถึง ปราศจากสิ่งแปลกปลอม อันจะทำให้เสียคุณภาพ

          2. ความเป็นระเบียบ หมายถึง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถูกลำดับ เป็นแถว เป็นแนว ไม่ขัดขวางไม่สับสน

          3. ความสุภาพ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมกิริยาทางกาย วาจาให้เป็นปกติ ไม่ทำผู้อื่นเกิดความรู้สึกในทางไม่ดี

          4. ความตรงต่อเวลา หมายถึง ความสามารถในการควบคุมตนเอง ในการเริ่ม เลิกงานให้เป็นไปตามกำหนด

          5. การมีสมาธิ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมจิตใจ อารมณ์ให้ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ผ่องใสขึ้นจากภายใน

 

     3. วัตถุประสงค์ของวิธีหรือแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ

1. เพื่อใช้เป็นข้อถือปฏิบัติของบุคลากรและนักเรียนโรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง

2. เพื่อพัฒนาบุคลากรและนักเรียนโรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบังเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะตามความดีสากล 5 ประการ

3. บุคลากรและนักเรียนปฏิบัติจนเป็นปกตินิสัย และเป็นวัฒนธรรมองค์กร

 

      4. เป้าหมาย 

ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ ผู้บริหาร ครู - บุคลากร และนักเรียนของโรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบังทุกคนปฏิบัติตามหลักความดีสากล 5 ประการ

ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ  ผู้บริหาร ครู - บุคลากร และนักเรียนของโรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบังทุกคนเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะตามหลักความดีสากล 5 ประการ

      5. ลำดับขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมพัฒนา

ขั้นที่ 1 (วางแผน)

          การดำเนินงานโครงการความดีมาตรฐานสากล ผู้บริหารต้องตระหนักและให้ความสำคัญโดยการนำนโยบาย ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ มาวางแนวทางใสอดคล้องกับหลักความดีสากล และใช้หลักการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม หลักธรรมาภิบาล และใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ การสร้างค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี ให้เกิดขึ้นกับทุกคนในโรงเรียนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจนเป็นอัตตลักษณ์ของโรงเรียน และขยายผลโดยโรงเรียนเป็นต้นแบบนำหลักการและแนวทางปฏิบัติสู่ชุมชน โดยในการดำเนินงานผู้บริหารได้มีการระดมแนวคิดจากครู บุคลากรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อยึดถือเป็นแนวทางพัฒนาและปฏิบัติร่วมกันโดยได้วางระบบพัฒนาความดีสากลของสถานศึกษาให้สอดแทรกลงสู่แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ยุทธศาสตร์แผนงาน และกำหนดไว้ในจุดเน้นในการพัฒนาด้านนักเรียนและนโยบายการพัฒนาด้านการศึกษา รวมทั้งโครงการ กิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียน

ทุก ๆ ปี ดังนี้

          1. ระบบพัฒนาความสะอาด ระบบพัฒนาความมีระเบียบในด้านสถานที่ มีโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการทำงานซึ่งเป็นนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมานคร และนโยบายพัฒนาด้านการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนที่จะทำให้โรงเรียนมีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้าน สมบูรณ์ด้วยแหล่งเรียนรู้ สีสันโรงเรียนสดใส โดยกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

          2. ระบบพัฒนาความมีระเบียบ กำหนดกิจกรรมพัฒนาความดีสากลลงสู่ตัวผู้เรียนทั้งสถานศึกษา ประกอบด้วย การปฏิบัติกิจกรรมหน้าเสาธง การนำหลักความดีสากลสอดแทรกในแผนการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ การมีมาตรการให้นักเรียนฝึกปฏิบัติในการเดินแถวตามข้อตกลงของโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเคยชินจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน

          3. ระบบพัฒนาความสุภาพนุ่มนวล โรงเรียนได้กำหนดปรัชญาไว้ว่า คุณธรรมทำให้คนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีระบบฝึกความสุภาพโดยแต่ละห้องเรียนมีข้อตกลงของนักเรียนร่วมกัน มีการปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีที่สร้างขึ้นจากบุคคลในองค์กร

          4. ระบบพัฒนาการตรงต่อเวลา โดยได้กำหนดเวลาปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร การมาเรียนของนักเรียนที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน

          5. ระบบพัฒนาจิตใจให้ผ่องใส โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ วิถีธรรม โดยฝึกปฏิบัติสมาธิทุกวัน

ในตอนเช้า กลางวัน และก่อนเรียนในแต่ละวิชา เพื่อให้มีสติ สมาธิ มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้

 

ขั้นที่ 2 (การนำสู่การปฏิบัติ)

          การนำระบบพัฒนาความดีสากลลงสู่ตัวนักเรียน

          1. ระบบฝึกและพัฒนาความสะอาด

              1.1 พัฒนาความสะอาดเกี่ยวกับตัวนักเรียน

          - ครูประจำชั้นกำกับดูแล และชี้แนะให้นักเรียนรักษาความสะอาดของตัวนักเรียน รวมทั้งเครื่องแต่งกาย ถุงเท้า รองเท้า ตลอดจนของใช้ของตนเอง

          - ตรวจสุขภาพของนักเรียนเป็นประจำ

          - ดำเนินโครงการอนามัยนักเรียน

             1.2  พัฒนาเกี่ยวกับสถานที่

          - แบ่งพื้นที่ให้รับผิดชอบดูแลรักษาความสะอาด เช่น พื้นที่สนาม โรงอาหาร ห้องน้ำห้องส้วม สนามเด็กเล่น โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทิ้งขยะ (ป.ป.ย.) คอยดูแลและตรวจสอบ

          - แต่งตั้งเวรประจำวันดูแลห้องเรียน

          - ดำเนินโครงการห้องเรียนสะอาด บรรยากาศวิชาการ โดยจัดประกวดความสะอาดของห้องเรียนและพื้นที่ทุกตารางนิ้ว จะต้องปราศจากขยะโดยสิ้นเชิง

          2. ระบบฝึกและพัฒนาความเป็นระเบียบ

             2.1 ระเบียบวินัยเรื่องการเข้าแถว การปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยโรงเรียนได้นำนวัตกรรม เสียงเพลงสร้างความดี เส้นสีสร้างวินัย มาใช้ในการฝึกและพัฒนาความเป็นระเบียบ ดังนี้

              - การเดินแถวของนักเรียนเมื่อมาโรงเรียนและกลับบ้าน โดยโรงเรียนกำหนดเส้นทางให้นักเรียนเดินแถวตามสีของเส้น ระดับอนุบาล ป.3 ใช้เส้นสีเขียว เหลือง ระดับชั้น ป.4 ป.6 ใช้เส้นสีเหลือง แดง เพื่อให้นักเรียนรู้กฎ กติกาของตนเอง และใช้ระบบการนำเพลงเข้ามาแทนการสั่งการเป็นการสร้างวินัยเชิงบวกแบบมีส่วนร่วมของนักเรียน โดยนักเรียนมีความเข้าใจที่ตรงกันว่าเพลงใดควรปฏิบัติตนอย่างไร

ทำกิจกรรมใด และให้ปฏิบัติพร้อมกันทั้งโรงเรียน โดยไม่ต้องมีการบอกคำสั่ง ดังนี้

          - เวลา 07.15 น. นักเรียนเข้าห้องเรียน ดำเนินกิจกรรมรักการอ่าน (เพลงตรงต่อเวลา)

          - เวลา 07.45 น. นักเรียนเดินแถวลงมาหน้าเสาธง (เพลงตรงต่อเวลา, เพลงเด็กดี)

          - เวลา 08.00 น. เคารพธงชาติ กิจกรรมหน้าเสาธง (สภานักเรียนดูแลความเรียบร้อย ระเบียบแถว และให้คะแนนเพื่อตรวจสอบคุณภาพ)

          - เวลา 08.20 น. นักเรียนนั่งสมาธิ (เพลงดอกไม้บาน)

- เวลา 08.25 น. นักเรียนเดินขึ้นห้องเรียนอย่างเป็นระเบียบ (เพลงพุทโธ)

- เวลา 11.00 น. นักเรียนระดับชั้นอนุบาลรับประทานอาหารกลางวัน

- เวลา 11.15 น. นักเรียนระดับชั้น ป.1 ป.3 รับประทานอาหารกลางวัน

- เวลา 11.30 น. นักเรียนระดับชั้น ป.4 ป.6 รับประทานอาหารกลางวัน

- เวลา 12.30 น. นักเรียนขึ้นห้องเรียน (เพลงแปรงฟัน, เพลงขยะล้นโลก)

- เวลา 12.20 น. นักเรียนนั่งสมาธิ (เพลงดอกไม้บาน)

- เวลา 15.30 น. นักเรียนเดินแถวกลับบ้านตามเส้นสีที่กำหนด (เพลงมาร์ชกรุงเทพมหานคร)

- ระเบียบวินัยในการเดินแถวเพื่อเปลี่ยนชั่วโมงหรือห้องเรียน โดยนักเรียนจะเดินเป็นแถว

ไปยังห้องเรียนในชั่วโมงต่อไป โดยมีหัวหน้าห้องคอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ในการนำเสียงเพลง และเส้นสีมาใช้นั้น เพื่อเป็นการฝึกให้นักเรียนมีความเข้าใจ และถือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อนักเรียนปฏิบัติจนเป็นนิสัยแล้ว เสียงเพลงและเส้นสีจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป 

2.2 ระเบียบวินัยในการรับประทานอาหารกลางวัน โรงเรียนได้มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้แก่นักเรียนตั้งแต่การแบ่งเวรตักอาหารให้แก่เพื่อนในห้องเรียน การเก็บกวาดและทำความสะอาดบริเวณที่รับประทานอาหาร การเก็บล้างภาชนะทั้งของตนเองและของห้องเรียน โดยในการดำเนินการจะมีคณะกรรมการคอยดูแลความเรียบร้อยของ   แต่ละห้องเรียนอีกครั้ง

2.3 ระเบียบวินัยในการแต่งกาย เพื่อก่อเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความพร้อมเพรียง และความสวยงาม โรงเรียนได้กำหนดการแต่งกายของบุคลากร และนักเรียน ไว้ดังนี้

การแต่งกายของครูและบุคลากรในโรงเรียน

วันจันทร์    ชุดเครื่องแบบข้าราชการ

วันอังคาร   ชุดสุภาพ สวยงาม

วันพุธ       ชุดพละ

วันพฤหัสบดี   ชุดลูกเสือ ยุวกาชาด

วันศุกร์     ชุดผ้าไทย

การแต่งกายของนักเรียน

วันจันทร์    ชุดนักเรียน

วันอังคาร   ชุดนักเรียน

วันพุธ       ชุดพละ

วันพฤหัสบดี   ชุดลูกเสือ ยุวกาชาด

วันศุกร์     ชุดเสื้อลายดอกตามแบบไทย

หมายเหตุ  การเรียนในวิชาพลศึกษานักเรียนแต่งกายชุดกีฬาสี

     3. ระบบฝึกและพัฒนาความสุภาพ

          - ปฏิบัติตามปรัชญาของโรงเรียน คุณธรรมทำให้คนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน

          - ดำเนินการโครงการส่งเสริมมารยาทบนพื้นฐานความเป็นไทย และโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์

          - มีการอบรมหน้าเสาธง การแนะแนวการพูดให้มีวาจาสุภาพเรียบร้อย

          - กิจกรรมหน้าเสาธง น้องไหว้พี่ พี่รับไหว้น้อง ทุกวัน เพื่อฝึกให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีความสุภาพ เคารพผู้ที่มีความอาวุโสกว่า

          - การฝึกให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตนให้อยู่ในอาการที่สำรวม การแสดงออกทางคำพูด กิริยามารยาท และที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเกิดความรำคาญ ยุ่งยากลำบากใจ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน

     4. ระบบฝึกและพัฒนาความตรงต่อเวลา

          - มีการสร้างข้อตกลงและถือปฏิบัติเกี่ยวกับเวลาในการมาโรงเรียนและการกลับบ้าน

          - การเข้าห้องเรียนให้ทันเวลา

          - การส่งงานตามระยะเวลาที่กำหนด

          - โรงเรียนดำเนินกิจกรรมสภานักเรียน เพื่อฝึกนักเรียนเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม และยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย

   

  5. ระบบฝึกและพัฒนาความผ่องใส

          - โรงเรียนดำเนินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ

          - การฝึกสมาธิในช่วงกิจกรรมหน้าเสาธง และก่อนเข้าเรียนในภาคบ่ายทุกวัน

          - การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้นักเรียนนั่งสมาธิก่อนเรียน ทุกคนอยู่ในอาการที่สำรวม

มีสติ สมาธิก่อนเริ่มการเรียน

 

ขั้นที่ 3 (การติดตาม ตรวจสอบ)

          จากการดำเนินงานทั้ง 5 ระบบพัฒนาความดีสากล จะมีแผนงาน กิจกรรม ตัวชี้วัด เป็นเกณฑ์

ในการดำเนินงาน โดยมีผู้บริหารโรงเรียน และคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ โดยใช้กระบวนการนิเทศภายในเป็นเครื่องมือ ติดตามความก้าวหน้า ตรวจสอบ ทบทวนเพื่อหาข้อบกพร่อง และปัญหาอุปสรรค

ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินงานเพื่อจะได้แก้ไขได้ทันเวลา สร้างขวัญและกำลังใจเพื่อให้บุคลากร

และนักเรียนฝึกปฏิบัติในเรื่องความดีสากลทุกวันอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เป็นประเพณีปฏิบัติ และเป็นวัฒนธรรมองค์กรและเป็นวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน

 

ขั้นที่ 4 (การปรับปรุงพัฒนา)

ในการพัฒนา และคงคุณภาพไว้ให้ยั่งยืนนั้นโรงเรียนจะนำหลักความดีสากล 5 ประการนี้

ถือปฏิบัติเป็นวัฒนธรรมองค์กร ประสานงานกับภาคีเครือข่ายขยายผลต่อผู้ปกครองและชุมชนต่อไป

 


 


ผลจากการปฏิบัติ

จากการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้โรงเรียนมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ด้าน การบริหารจัดการเป็นไปตามโครงสร้างการบริหาร ครูปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีศักยภาพ นักเรียนมีผลการเรียนตามเกณฑ์ มีคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ พฤติกรรมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีขึ้น โรงเรียนได้รับรางวัลระดับชาติโรงเรียนดีมาตรฐานสากล ประเภทประถมศึกษา – ขยายโอกาส รุ่นแรกของโลก จากมูลนิธิครูดีของแผ่นดิน ส่งผลโรงเรียนได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องการบริหารจัดการ ระบบการพัฒนานักเรียน และการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับผู้ที่มีความสนใจ ประชาชนในพื้นที่เชื่อมั่นในคุณภาพของโรงเรียน และครูส่งบุตรหลานเข้ามาสมัครเรียนในโรงเรียนเพิ่มขึ้น