สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child Centred Education : CCE)
โรงเรียนพูนสิน (เพชรสุขอุปถัมภ์)
กระบวนการพัฒนา

๑.  ขั้นวางแผน (Plan)

         -สร้างความตระหนักในการร่วมมือกันพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นระบบด้วยความยั่งยืน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ CCE มาใช้เป็นกระบวนการพัฒนา

-วางแผนกำหนดนโยบายในคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ คณะครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

-จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครู เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามแนวทาง CCE และการนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยผู้บริหาร วิทยากรจากมูลนิธิชินโสภณพานิชและครูแกนนำ โดยมีกรอบหลักสูตรและหัวเรื่องที่จะใช้พัฒนาแต่ละด้านตามความเหมาะสมของระดับชั้นเรียน

- การศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบ  ห้องเรียนต้นแบบ เพื่อเรียนรู้ เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการตามแนวทางCCE แล้วนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยจะเห็นบรรยากาศการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในห้องเรียนจริง ๆ ซึ่งจะทำให้สามารถนำเทคนิค วิธีการต่าง ๆ มาต่อยอดใช้ในการเรียนรู้ของตนเองได้ง่ายขึ้น

-จัดประชุมทำคำสั่งมอบหมายงานแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบฝ่ายต่าง ๆ พร้อมทั้งประชุมวางแนวทางการพัฒนาผู้เรียน ตามแนวทาง CCE คือการจัดกระบวนการเรียนการสอนพัฒนาผู้เรียนโดยใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Child Centred Education (CCE)  โดยประชุมคณะครู ครูพี่เลี้ยง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อศึกษา วิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เกณฑ์และกรอบมาตรฐานการศึกษา และผลการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษาที่ผ่านมา

-คณะครูและครูพี่เลี้ยงศึกษารูปแบบ วิธีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการ CCE               ซึ่งประกอบด้วย จุดเน้น ๔ ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อม  ด้านหลักสูตรและแผนการจัดการเรียนรู้  ด้านนักเรียน ด้านครู

 

2. ขั้นปฏิบัติการ (Do) ดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

คณะครูนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมเชิงปฏิบัติการมาปฏิบัติ

นำการจัดการเรียนการสอน Child Centred Education (CCE) ลงสู่ผู้เรียนทั้งโรงเรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน ดังนี้

๒.๑ พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

ครูเตรียมความพร้อมของห้องเรียนด้วยการนำความรู้จากการอบรมด้านสภาพแวดล้อม เรื่อง สิ่งแวดบ้อมในห้องเรียน และการจัดแสดงความรู้และผลงานของนักเรียนมาปฏิบัติจริง โดยครูออกแบบห้องเรียนของตนเอง โดยวางแผนผังห้องเรียนและกำหนดการจัดวางสิ่งของที่เหมาะสม /สำรวจวัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ที่มีอยู่ แล้วคัดแยกสิ่งที่ควรเก็บไว้และสิ่งที่ควรนำออกหรือจัดทำเพิ่มขึ้น แล้วดำเนินการจัดห้องตามแผนผังที่กำหนด ซึ่งเป็นการปรับห้องเรียนสภาพตามแนว CCE  กิจกรรม Clean up day โดยมีแนวทางดังนี้

(1) ห้องเรียนสะอาด ปลอดภัย

(2) การจัดมุมการเรียนรู้หลากหลาย เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยจัดเป็นระเบียบมีป้าย ชื่อมุมกำกับชัดเจน ได้แก่

- มุมสะอาด เป็นมุมที่ใช้เก็บไม้กวาด ที่โกยผง ถังขยะ ที่นักเรียนเข้าใช้ได้ง่าย ควรห่างจากมุมสุขภาพ

- มุมอุปกรณ์ เป็นมุมที่ครูจัดเก็บอุปกรณ์การเรียนรู้ ซึ่งนักเรียนสามารถนําไปใช้ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กาว กรรไกร สี ปากกา เป็นต้น

- มุมครู เป็นพื้นที่ส่วนตัวให้ครูได้ทำงานพร้อมกับมีเวลาอยู่ในห้องเรียนกับนักเรียน

- มุมแสดงความรู้และผลงานนักเรียน (Display) เป็นมุมที่ครูหรือนักเรียนจัดไว้ สำหรับการแสดงความรู้ที่มีข้อมูลสอดคล้องกับการเรียนรู้ในช่วงนั้น ควรอยู่ในระดับที่นักเรียนสามารถ มองเห็นได้ง่าย เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง และมีการแสดงผลงานของนักเรียนทุกคน เพื่อสร้าง ความภาคภูมิใจให้นักเรียน

- มุมการอ่านหรือมุมหนังสือ เป็นมุมส่งเสริมการอ่านหรือการค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ  ซึ่งควรจัดโต๊ะเล็ก ๆ มีชั้นวางหนังสือที่แข็งแรง ปลอดภัย หยิบได้ง่าย และเป็นหนังสือที่เหมาะสมกับวัย ให้นักเรียนเลือกอ่าน

- มุมส่งงาน เป็นมุมสำหรับนักเรียนส่งงานหรือการบ้าน ๆ หรือการบ้านที่ตรวจแล้วคืน และสามารถใช้เป็นพื้นที่วางหนังสือหรือแบบฝึกหัดให้

- มุมเสริมแรง (Star Chart) เป็นมุมที่มีตารางสำหรับติดดาว เป็นการเสริมแรงเมื่อนักเรียนตั้งใจเรียนหรือแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ช่วยสร้างแรงจูงใจ สร้างความ ภาคภูมิใจ และควบคุมพฤติกรรมนักเรียน

- มุมสุขภาพ เป็นมุมสำหรับเก็บแปรงสีฟัน แก้วน้ำของนัก นักเรียนสามารถหยิบของ     ได้ง่าย

- มุมการเรียนรู้ เป็นมุมทำกิจกรรม เช่น เกมการศึกษา ของเล่นที่เอื้อต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของนักเรียนอาจมีตะกร้าเพื่อช่วยให้เก็บของเป็นระเบียบ และควรหมั่นทำความสะอาด สิ่งของอยู่เสมอ

- มุมหน่วยการเรียนรู้ เป็นมุมที่ครูจัดและตกแต่งพื้นที่ด้วยเนื้อหาที่กำลังสอนในช่วงเวลานั้น หรือสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้

- มุมรวมหรือมุมพรม เป็นมุมสำหรับให้นักเรียนรวมกันและทํากิจกรรมการสอน   ซึ่งควรเป็นพื้นที่หน้าห้อง ช่วยให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียน

- มุมกระเป๋า เป็นพื้นที่วางกระเป๋าของนักเรียน โดยครูสามารถติดเลขหรือ สัญลักษณ์ของนักเรียนแต่ละคน เพื่อความเป็นระเบียบ เป็นการนํากระเป๋าให้ห่างจากตัวนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีสมาธิในการทำกิจกรรมการเรียนรู้

- มุมรองเท้า เป็นมุมวางรองเท้าของนักเรียน ซึ่งควรจัดไว้ด้านนอกห้องเรียน โดยครูสามารถติดเลขหรือสัญลักษณ์ประจําตัวนักเรียนแต่ละคน อาจใช้เทปกาวตีกรอบ เพื่อให้นักเรียน วางรองเท้าได้อย่างถูกวิธีและเป็นระเบียบ ช่วยฝึกวินัยของนักเรียน

(3) การจัดพื้นที่เพียงพอต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

(4) การสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้กระตุ้นการเรียนรู้ มีสีสันสวยงาม สร้างสรรค์

(5) การนําธรรมชาติเข้าสู่ห้องเรียน เพื่อสร้างความสดชื่น และเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่

สร้างสรรค์ให้แก่นักเรียน

(6) การจัดป้ายแสดงความรู้และผลงานนักเรียนทุกคน (Display) ที่เป็นปัจจุบัน สม่ำเสมอ

และนักเรียนมีส่วนร่วม

(7) การจัดป้ายแสดงความรู้ที่ให้ทั้งความรู้ และทำกิจกรรมบนป้ายได้ ( Interactive

Board)

          -การจัดวางวัสดุได้จัดวัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการ  เพื่อให้เด็กสามารถใช้หรือทำกิจกรรมได้สะดวกด้วยตนเอง 

          -วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์  ควรให้มีขนาดเหมาะสมกับเด็ก

          -การจัดพื้นที่ในห้องเรียนให้เหมาะสม เลือกที่ตั้งครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ  และมุมประสบการณ์โดยคำนึงถึงทิศทางลมเหมาะสม แสงสว่างเพียงพอต่อการทำกิจกรรมไม่รบกวนสายตาเด็กขณะปฏิบัติกิจกรรมสร้างบรรยากาศให้ร่มรื่นทุกจุดของห้องควรให้มองเห็นได้โดยรอบ

          - จัดสภาพแวดล้อมในห้องให้มีความสะอาดปลอดภัยโดยตรวจความเรียบร้อยของวัสดุ อุปกรณ์ สื่อและเครื่องเล่นหากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมโดยเร็วกำหนดขอบเขตของมุมประสบการณ์ให้เด็กรู้ดูแลบริเวณทั่วไปให้ปลอดภัยจากสัตว์ แมลง พืช และสารเคมีที่มีพิษครุภัณฑ์ โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ควรเป็นมุมแหลมที่เป็นอันตราย

-จัดมุมเสริมทักษะพัฒนาการเรียนรู้ที่หลากหลายเช่น มุมส่งเสริมการอ่าน มุมเกมการศึกษา             มุมศิลปะ  มุมส่งงาน มุมสะอาด มุมอุปกรณ์

- จัดสภาพแวดล้อมให้สวยงามเหมาะกับการเรียนรู้

-จัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สะดวกต่อการหยิบใช้และจัดเก็บเป็นระเบียบมีการจัดมุมกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมอุปกรณ์ให้พร้อมใช้และเพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน

- จัดบอร์ดบริเวณทั้งในและห้องเรียนให้มีความเป็นปัจจุบัน ทันสมัย แปลกใหม่อยู่เสมอ

- จัดบอร์ดผลงานนักเรียนให้มีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนนักเรียนได้นำผลงานขึ้นทุกคน

๒.๒ พัฒนาด้านหลักสูตร

-วิเคราะห์หลักสูตรเพื่อเชื่อมโยงกับผลการวิเคราะห์ผู้เรียนที่จัดกลุ่มผู้เรียนตามความสามารถ
มีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและบูรณาการเนื้อหาระหว่างกลุ่มสาระหรือรายวิชา

-ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนกำหนดผลการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามจุดหมายของหลักสูตร ตัวชี้วัดรายวิชาต้องครอบคลุมทั้งในด้านความรู้  ทักษะ  และเจตคติ  

-กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอน เทคนิคการสอน  การเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล จัดกิจกรรมบูรณาการระหว่างสาระวิชาต่าง ๆ เชื่อมโยงเนื้อหากับชีวิตจริง 

-จัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง กระตุ้นความคิด มีกระบวนการการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นระบบ

-จัดกิจกรรมให้มีความยืดหยุ่นเปิดกว้างสำหรับนักเรียน เน้นความแตกต่างระหว่างบุคล เช่น การทำใบงานที่แตกต่างกัน เป็นต้น

-มีวิธีการวัดผลและประเมินผลให้เป็นไปตามสภาพจริง

          ๒.๓ พัฒนาด้านครู

          -ครูศึกษาข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียนเป็นรายบุคคลครูมีการศึกษาข้อมูลของนักเรียน วิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคลโดยใช้แบบสำรวจ แบบคัดกรอง แบบสัมภาษณ์เพื่อให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคน และเข้าใจถึงพัฒนาการของนักเรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และพื้นฐานความต้องการของนักเรียนตามศักยภาพและความสามารถของนักเรียน

-ครูเปลี่ยนมุมมอง ปรับทัศนคติในการคิด เข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน ความแตกต่างแต่ละบุคคล

-ครูคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเชิงลึกเน้นผู้เรียนเป็นรายบุคคล มีการทำใบงาน แบบฝึกให้เหมาะกับผู้เรียน

-ครูสนับสนุนผู้เรียนตามศักยภาพมีสัมพันธภาพที่ดีต่อนักเรียนทั้งทางกายและจิตใจ ให้เกียรติ
รับฟังเป็นที่ปรึกษา ช่วยแก้ปัญหาและชื่นชมเพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี ทำให้นักเรียนมีความสุข
  มีความเชื่อมั่น  กล้าคิด  กล้าแสดงออก

-ครูมีสัมพันธภาพที่ดีต่อเด็กจัดกิจกรรมและสื่อการสอนที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุขสอดคล้องกับ  VAK และจุดประสงค์การเรียนรู้

-ครูปรับเปลี่ยนวิธีการสอนจากการลงโทษ เป็นการให้การเสริมแรงและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้เรียนมีการเสริมแรงทั้งด้วยวาจา และการปฏิบัติ เช่น การให้ดาว การกล่าวชม การนำผลงานของนักเรียนขึ้นจัดบอร์ดเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้เรียน

-ครูสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีการจัดมุมต่างๆ ทั้งในและนอกให้เรียนให้เหมาะสมกับ     การเรียนรู้ เช่น มุมการอ่าน มุมอุปกรณ์ มุมความรู้ มุมส่งงาน ฯลฯ

-ครูเป็นที่ปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาครูปฏิบัติตนเป็นผู้ที่สร้างความไว้วางใจให้ผู้เรียน ไม่ดูห่างเหิน
มีความเป็นกันเอง ผู้เรียนเกิดความสบายใจกล้าที่จะปรึกษา ครูมีการประสานงานกับผู้ปกครองในการร่วมพัฒนาผู้เรียนอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง

-ครูมีการจัดการ วางแผน ในการจักกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ดังนี้

(๑) ครูศึกษาเรื่องมาตรฐานการศึกษาและมีการวิเคราะห์หลักสูตรให้เข้าใจ แล้วนำมาพัฒนาหลักสูตรรายวิชาที่ตนสอน

(๒) ครูวางแผนการสอน ว่าควรจะสอนอย่างไร รวมทั้งจะต้องสามารถกำหนดสิ่งที่จะบรรลุผลหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือพฤติกรรมของนักเรียนที่จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับการศึกษา โดยเน้นการจัดกิจกรรมและการใช้สื่อที่ส่งเสริมการเรียนรู้

(๓) ครูนำกระบวนการวิจัยเข้ามาใช้ในการสอนของครู และการเรียนของนักเรียนเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ควบคู่กับการเรียนรู้

(๔) ครูดำเนินการสอน โดยทำงานร่วมกับผู้เรียนหมายความว่า ต้องลดบทบาทการบอกของครูมาเป็นการทำงานร่วมกับผู้เรียน โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้มีบทบาทในการเรียนมากขึ้น

(๕) ครูมีการวัดประเมินผลการสอนว่าสิ่งที่ครูสอนไปนั้นบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด โดยวัดจากผลการเรียนรู้ของผู้เรียน พิจารณาเป็นรายบุคคลและรายชั้นเรียน

          (๖) ครูวิเคราะห์ผลจากการสอน และผู้เรียน เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอนในต่อไป

(๗) ครูบันทึกสรุปผลการสอน ว่าในคาบหรือหน่วยนั้นมีความสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องแก้ไขอย่างไร มีคำแนะนำเพื่อจะนำไปปรับปรุงต่อไปอย่างไร โดยบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้เป็นหนึ่งหน่วย

๒.๔ พัฒนาด้านผู้เรียน

- นักเรียนมีความสุขในการเรียนเพิ่มมากขึ้น

          - นักเรียนมีทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ

- นักเรียนกล้าตัดสินใจ กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

- นักเรียนมีสัมพันธภาพที่ดีกับกลุ่ม

- นักเรียนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพและความต้องการ

- ปรับแนวคิดทัศนคติของผู้เรียนให้เห็นความสำคัญของการตั้งใจเรียน มีการทำข้อตกลง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกถึงแนวคิดของตนเอง

3. ขั้นตรวจสอบ (Check) สรุปผลการจัดการเรียนการสอน

เพื่อให้ครูมีการดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางCCE ได้อย่างมั่นใจ และมีความต่อเนื่อง เพื่อให้ครูค้นพบ จุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุงของตนเอง เพื่อพัฒนาต่อไป จึงจัดให้มีระบบการนิเทศกระบวนการเรียนการสอนภายในแบบกัลยาณมิตรและมีการกำกับติดตาม โดยผู้บริหาร คณะวิทยากรจากมูลนิธิชินโสภณพานิช คณะกรรมการโครงการนิเทศ คณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายประเมินผล เพื่อให้เห็นพัฒนาการของผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียน โดยวิธีการสังเกต บันทึกผล ประเมินผล พฤติกรรมของผู้เรียนในโรงเรียนในขณะทำกิจกรรมต่างๆ และสภาพแวดล้อมในของโรงเรียน  อย่างน้อยคนละ ๓ ครั้ง ต่อเนื่องตลอดปีการศึกษา โดยมีประเด็นในการนิเทศดังนี้

-การจัดการชั้นเรียนและสัมพันธภาพเชิงบวก

-บรรยากาศในห้องเรียน

-กิจกรรมและใบงานที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

ภายหลังการนิเทศจะเปิดโอกาสให้ครูได้วิเคราะห์และประเมินตนเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ผู้บริหาร คณะวิทยากรให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ละภาคเรียน ครูจะดำเนินการสรุปผลการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยและผลการเรียนของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคเรียนละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งนำผลการประเมินรายงานให้ผู้ปกครองนักเรียนรับทราบ และนำผลการประเมินไปปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและพัฒนานักเรียนต่อไป

4. ขั้นปรับปรุง และขยายผล (Action) ปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอน

-ผู้บริหาร คณะครู วิทยากร สรุปผลการจัดการเรียนการสอน นำผลการจัดการเรียนการสอนและนำผลการประเมินพัฒนาการของนักเรียนมาปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนในปีการศึกษาต่อไป 



ผลจากการปฏิบัติ

?โรงเรียนมีรูปแบบและแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เป็นระบบ ครูทุกคนสามารถปฏิบัติได้เป็นอย่างดี  สภาพแวดล้อมของโรงเรียนมีการพัฒนาทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนเพื่อให้สอดรับการแนวทางของ CCE เพื่อส่งเสริมและเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเหมาะสม มีความเป็นระเบียบ สะอาด สวยงาม ปลอดภัย สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และมีความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภายนอก และผู้ปกครองเกิดความพึงพอใจ

ครูได้พัฒนาจนมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ในแนวทางเดียวกันจนเป็นครูที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และมีจิตวิญญาณความเป็นครู  สามารถบริหารจัดการชั้นเรียนเชิงบวกได้เป็นอย่างดี มีการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ครูและผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นความสุข  เมื่อพบปัญหาในระหว่างการจัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนสามารถนำรูปแบบการวิจัยไปใช้ในการแก้ปัญหา ร่วมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นได้ ทำให้มีขั้นตอนการพัฒนาที่เป็นระบบ ครูที่ยังไม่ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะสามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ ครูมีกำลังใจที่จะพัฒนาตนเองให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น และไม่ย้ายไปต่างสังกัด เกิดความภูมิใจและรักในองค์กรเพิ่มมากขึ้น  ครูผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการให้ข้อมูลสะท้อนกลับเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน   

นักเรียนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เรียนรู้อย่างมีความสุข รู้รอบด้านทั้งทักษะวิชาการ วิชาการและทักษะชีวิต ความเข้าใจในเนื้อหาของบทเรียน  ได้ฝึกทักษะการกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น สรุปองค์ความรู้  นำเสนอผลงาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  สามารถปฏิบัติตามกติกาของห้องเรียนได้เป็นอย่างดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้เป็น  อย่างดี