สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
กิจกรรมการประดิษฐ์และเชิดหุ่นมือสู่ความเป็นเลิศ
โรงเรียนวัดนาคนิมิตร
กระบวนการพัฒนา

. ชื่อผลงาน กิจกรรมการประดิษฐ์และเชิดหุ่นมือสู่ความเป็นเลิศ

. ชื่อเจ้าของผลงาน (ระบุชื่อโรงเรียน) โรงเรียนวัดนาคนิมิตร (สว่างนพราษฎร์วิทยา)

. เกริ่นนำความเป็นมา 

                การเล่นหุ่น หรือการแสดงหุ่น คือ การแสดงที่ใช้รูปจำลองที่มีกลไก ทำให้รูปจำลองนั้นเคลื่อนไหวได้โดยการเชิด หรือการชักแทนการใช้ตัวคนในการดำเนินเรื่อง การแสดงหุ่นเป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่มีมาช้านาน และเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก การแสดงหุ่นสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในการดำเนินชีวิต ที่ใช้แสดง มีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเรื่องราวชีวิตจริงของมนุษย์ มีการเขียนบทเพื่อใช้แสดงหุ่นนับเป็นพันๆ เรื่อง โดยกวีและนักปราชญ์จำนวนมาก และมีการฝึกฝนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นแสดงหุ่น เช่น ผู้ประดิษฐ์ตัวหุ่น ผู้ออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับหุ่น ผู้อ่านบท นักดนตรี ผู้เชิดหุ่น และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โรงเรียนวัดนาคนิมิตรเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ จึงได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านกระบวนการฝึกฝนทักษะให้กับนักเรียนในการประดิษฐ์หุ่นมือ และเชิดหุ่นมือ สามารถพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษา สำหรับเป็นผู้อ่านบท และผู้เชิดหุ่น และพัฒนาความสามารถด้านศิลปะ ดนตรี สำหรับการประดิษฐ์หุ่นมือ และนักดนตรีประกอบการแสดง รวมถึงด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  จึงได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้การประดิษฐ์และเชิดหุ่นมือเพื่อพัฒนาทักษะสู่ความเป็นเลิศ

. วัตถุประสงค์

       ๑. เพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษา โดยถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ เช่น นิทาน วรรณคดี วรรณกรรมร่วมสมัยฯ ผ่านการแสดงหุ่น

       ๒. เพื่อให้นักเรียนได้แสดงออก มีส่วนลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง

       ๓. เพื่อเป็นการส่งเสริมความสามารถในการประดิษฐ์หุ่นมือในรูปแบบต่าง ๆ มาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ตามจินตนาการได้

 . กิจกรรม/วิธีการ /ขั้นตอน/

       ๑. การจัดการเรียนรู้ในการจัดประดิษฐ์หุ่นมือในแต่ละระดับชั้น มีกำหนดการสอน ดังนี้

          ๑.๑ ระดับปฐมวัย

       ๑.๑.๑ ครูจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในช่วงกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ของแต่ละวัน เพื่อให้เด็กสามารถประดิษฐ์หุ่นมือด้วยตนเอง ตามกำหนดการสอน คือ

                                    ชั้นปฐมวัยปีที่ 1            เรื่อง     การระบายสีหุ่นมือ

                                  ชั้นปฐมวัยปีที่ 2            เรื่อง     หุ่นมือเล่านิทาน

               ๑.๑.๒ นำหุ่นมือที่ประดิษฐ์ด้วยตนเอง มาแสดงเล่านิทานในช่วงกิจกรรมเสริมประสบการณ์เพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการ และความเพลิดเพลิน

          ๑.๒ ระดับประถมศึกษา

                ๑.๒.๑ ครูจัดการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนสร้างสรรค์ผลงานการประดิษฐ์หุ่นมือ จากวัสดุต่างๆ ในการเรียนชั่วโมงชมรมของแต่ละระดับชั้น ตามกำหนดการสอน คือ

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑     เรื่อง     หุ่นนิ้ว

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒     เรื่อง     หุ่นไม้ไอศกรีม

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓     เรื่อง     หุ่นมือถุงกาแฟ

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔     เรื่อง     หุ่นมือถุงกาแฟ

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕     เรื่อง     หุ่นมือโดยใช้เทคนิคเปเปอร์มาเช่

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖     เรื่อง     หุ่นมือโดยใช้เทคนิคเปเปอร์มาเช่

      ๑.๒.๒ เมื่อนักเรียนสามารถประดิษฐ์หุ่นมือเป็นผลงานของตนเองได้แล้ว ครูจัดการเรียนการสอนการเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นมือ ในชั่วโมงภาษาไทย ตามแผนการจัดการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำ และดำเนินกิจกรรมตามลำดับ ดังนี้

-           เรียนรู้หลักการเล่านิทาน  ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าจากหนังสือในห้องสมุด และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น วีดิทัศน์ สื่อออนไลน์

-          เขียนบทนิทานก่อนเล่า  แบ่งกลุ่มนักเรียนเขียนบทนิทานที่มีคติสอนใจ กลุ่มละ ๑ เรื่องครูเป็นผู้ช่วยแนะนำในเรื่องการใช้ภาษาสำนวนให้ถูกต้อง

-          กำหนดหน้าที่รับผิดชอบในการแสดง นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันกำหนดบทบาทว่าใครจะเป็นผู้เล่า และใครจะเป็นผู้เชิดหุ่นตามความเหมาะสม

-          ฝึกการเชิดหุ่นมือ  ครูเป็นผู้ฝึกสอนการเชิดหุ่นมือพื้นฐานให้กับนักเรียน ตามความเหมาะสมของวัยนักเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้จักการควบคุมนิ้วมือ   โดยฝึกให้นักเรียนใช้แขน และมือ สอดเข้าไปในถุงซึ่งเป็นลำตัวหุ่น และใช้นิ้วชี้สอดให้ตรงกับรูที่เชื่อมระหว่างลำตัวกับศีรษะหุ่น  เพื่อบังคับส่วนศีรษะของหุ่น นิ้วโป้งและนิ้วกลางใช้บังคับมือและแขนทั้ง ๒ ข้างของหุ่น

                       - แสดงผลของการฝึก  นักเรียนแต่ละกลุ่มแสดงนิทานจากหุ่นมือของกลุ่มตนเอง หลังแสดงจบ ครูให้ข้อเสนอแนะและมอบหมายให้

                          นักเรียนที่แสดงได้ดี จัดแสดงช่วงกิจกรรมหน้าเสาธง หรือตอนพักกลางวัน

           ๑.๒.๓  จัดกิจกรรมประกวดการเชิดหุ่นมือในแต่ละระดับชั้นเพื่อเฟ้นหานักเรียนที่มีความสามารถในการเล่านิทาน และการเชิดหุ่นมือ เพื่อเป็นทีมการเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นของโรงเรียน และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ

           ๑.๒.๔. หลังจากที่ครูคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถในด้านต่างๆ แล้ว ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเชิดหุ่น เช่น ครูบรรณารักษ์ ครูดนตรีไทย ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และครูที่เกี่ยวข้อง จะฝึกซ้อมนักเรียนโดยฝึกซ้อมในตอนเย็นหลังเลิกเรียนในเวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๓๐ น. โดยฝึกการเล่านิทาน ฝึกเชิดหุ่นมือตามอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งครูจะฝึกซ้อมทั้งผู้เล่าและผู้เชิด นักเรียนทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแสดงเชิดหุ่นต้องสามารถจำบทของตนเองได้ เชิดหุ่นให้ตรงกับคำพูด ท่าทาง รักษาระดับการเชิดให้คงที่

          ๑.๒.๕. นักเรียนทำการฝึกซ้อมหลายๆ ครั้ง จนได้การแสดงที่สมบูรณ์และสมจริงที่สุด เมื่อนักเรียนซ้อมเชิดหุ่นจนเกิดทักษะได้ในระดับหนึ่งแล้ว จะให้นักเรียนฝึกซ้อมการแสดงเชิดหุ่นมือควบคู่กับดนตรีไทย ในการกำกับจังหวะของการแสดง ซึ่งครูดนตรีไทยจะฝึกซ้อมนักเรียนให้สามารถเล่นได้เข้ากับจังหวะการเชิดหุ่น ผู้ชมจะได้อรรถรสทั้งจากการแสดงเชิดหุ่นที่เข้าถึงอารมณ์ และเสียงประกอบจากดนตรีไทย ที่ใช้การแสดงดนตรีสด นักเรียนทุกคนจะต้องฝึกให้มีความชำนาญจนเกิดการแสดงที่เป็นหนึ่งเดียวทั้งผู้อ่านบท  ผู้เชิด และนักดนตรี

         ๑.๒.๖  ส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียน เพื่อเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการประกวดแข่งขันการเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนักเรียน


ผลจากการปฏิบัติ

.ผลสำเร็จ

          ๑. นักเรียนมีทักษะการพัฒนาทักษะการใช้ภาษา และภูมิใจในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง

          ๒. นักเรียนมีความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าแสดงต่อที่ชุมชน

          ๓. ผลงานนักเรียนได้รับรางวัลจากกิจกรรมการเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นมือของหน่วยงานของรัฐและเอกชน  ดังนี้

-          ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒  รับรางวัลชนะเลิศประเภทสวยงาม การแข่งขันประดิษฐ์และการแสดงหุ่นมือ รับถ้วยประทานจากพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ จัดโดยสภาวัฒนธรรมเขตจอมทอง

-          ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดแข่งขันแสดงหุ่น สุดยอดการถ่ายทอดค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ จัดโดยสภาวัฒนธรรมเขตจอมทอง ร่วมกับสำนักงานเขตจอมทอง รับถ้วยรางวัลจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร

-          ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ การประกวดแข่งขันแสดงหุ่นตามพระบรมราโชวาท ๙ คำสอนของพ่อจัดโดยสภาวัฒนธรรมเขตจอมทอง รับถ้วยรางวัลจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

-          ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ รางวัลชนะเลิศ “การประกวดหนูน้อยนพมาศจิตอาสา” จากวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรส และกรุงเทพมหานคร ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท

-          นอกจากนี้ยังได้จัดการแสดงในงานที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน วัด และชุมชน ทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่ได้สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน และเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์อันทรงคุณค่าให้กับนักเรียน

. ผลการได้รับการยอมรับ

ผลจากการพัฒนากิจกรรมการประดิษฐ์และเชิดหุ่นมือ จนมีผลงานเชิงประจักษ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่ยอมรับและเป็นประโยชน์ควรค่าแก่การเผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้อื่นซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษา จึงได้ประชาสัมพันธ์การประดิษฐ์และการเชิดหุ่นมือฝีมือนักเรียน  โดยการถ่ายทอดรายการ ช่อง ๙ ร่วมใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน ช่วง “อย่างนี้ต้องยกนิ้วให้” ในปี ๒๕๕๒ และได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ หน้า ๒๔ คอลัมน์ “สุดยอดหุ่นมือฝีมือเยาวชน”