ความเป็นมาและบริบทของโรงเรียน
สืบเนื่องจากการประเมินการอ่านของนักเรียนประจำเดือนพบว่ามีนักเรียนเป็นจำนวนมากมีปัญหาด้านการอ่านและการเขียน นักเรียนบางคนอ่านหนังสือไม่คล่อง บางคนอ่านหนังสือไม่ออก และเมื่อทดสอบการเขียนพบว่าบางคนเขียนหนังสือไม่ค่อยได้ และเขียนไม่ถูก ซึ่งการอ่านและการเขียนไม่ได้ของนักเรียนจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการเรียนของนักเรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และยังส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนด้วย
ทางโรงเรียนตระหนักและเห็นความสำคัญในการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนทุกคน จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียนทุกระดับชั้น ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีความสามารถด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน และคิดได้อย่างมีประสิทธภาพ และใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนเรียนรู้อื่นอย่างมีคุณภาพอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ อ่านคล่อง และเขียนคล่อง
2. เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
3. เพื่อส่งเสริมให้คณะครูจัดกิจกรรมแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียนอย่างเป็นระบบ
4. เพื่อพัฒนาครูให้ใช้สื่อในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้และอ่านคล่องเขียนคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงาน
กิจกรรม/วิธีการ/ขั้นตอนที่สำคัญ
1. คัดกรอง /แบ่งกลุ่มนักเรียน
2. วางแผน/กำหนดกิจกรรมรายกลุ่มที่คัดกรอง
3. ดำเนินการแก้ปัญหาและพัฒนาการอ่าน
4. ประเมินผลการอ่าน การเขียนของนักเรียน
5. รวบรวมสรุปผล
6. พัฒนา แก้ไข / ปรับปรุง
กิจกรรมการดำเนินงานแก้ปัญหาและพัฒนาการอ่านการเขียนของนักเรียน ( ครูประจำชั้น / ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย/ ครูทุกคน )
(P:ขั้นวางแผน)
กระบวนการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนดังนี้
1. วิเคราะห์สภาพปัจจุบันปัญหาของนักเรียนที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เช่น นักเรียนขาดทักษะพื้นฐานการอ่านการเขียนทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน นักเรียนมีสมาธิในการเรียนรู้สั้น การจัดการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองของเด็ก (BBL) เป็นต้น
2. ประชุมสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรและผู้ปกครอง ให้เห็นความสำคัญของภาษาไทย แม้ครูที่สอนสาระการเรียนรู้อื่น โดยเป็นแบบอย่างที่ดีและร่วมกันส่งเสริมการใช้ภาษาไทยของนักเรียน
3. ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมบุคลากรในการสร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการอ่านและการเขียนและนิเทศ ติดตามให้ทุกคนนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
4. มอบหมายให้ครูทุกท่านรับผิดชอบนักเรียนตามจำนวนที่ได้รับมอบหมายเพื่อดำเนินการพัฒนาการอ่านและการเขียนของนักเรียนทุกวัน
5. ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการควบคุม กำกับและติดตามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยให้ครูประจำชั้นส่งรายงานการพัฒนาการออ่านและการเขียนให้กับผู้บริหารสถานศึกษาทุกวันสิ้นเดือน
(D: ขั้นดำเนินงาน)
ดำเนินการพัฒนาการอ่าน การเขียน ตามกิจกรรมตามที่กำหนดตลอดปีการศึกษา
กิจกรรมที่ 1 แบ่งกลุ่มนักเรียนที่คัดกรองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่อ่านไม่ได้( กลุ่มนักเรียนเรียนร่วม)
กลุ่ม ที่อ่านไม่คล่อง และกลุ่มปานกลาง ประชุมคณะครู มอบหมายการสอนทักษะการอ่านโดยใช้สื่อ นวัตกรรมแบบฝึก กระบวนการ เทคนิคที่หลากหลาย แบ่งให้ครู 1 คน ต่อนักเรียน 3-5 คน ใช้เวลาตอนพักกลางวัน 12.00 น. ถึง 12.30 น.ทุกวัน จันทร์ - ศุกร์ ที่ห้องประชุมจามจุรี
กิจกรรมที่ 2 ครูประจำชั้น ฝึกทักษะการอ่าน เขียน ในชั่วโมงภาษาไทยเพิ่มกับเด็กเป็นรายบุคคล
กิจกรรมที่ 3 ส่งเสริมกิจกรรมรักการอ่าน
3.1 จัดมุมรักการอ่านในห้องเรียน
3.2 กิจกรรมอ่านก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ
3.3 กิจกรรม 10 นาทียามเช้า สร้างลูกรักการอ่าน (ตาม นโยบาย กทม. )
3.4 กิจกรรมภาษาไทยวันละคำ
3.5 กิจกรรมบันทึกรักการอ่าน
(C: ขั้นติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล)
ประเมินผลการอ่านการเขียนของนักเรียน เพื่อดูพัฒนาการ การอ่านและการเขียนของนักเรียน
กิจกรรมที่ 1 การวัดและประเมินผล โดยจัดให้มีการทดสอบการอ่าน การเขียน เดือนละ 1 ครั้ง
- พัฒนาการของนักเรียน ( ดูจากแบบบันทึกความก้าวหน้า )
- แบบสรุปพัฒนาการของนักเรียน
- แบบบันทึกการการอ่าน / การเขียนของนักเรียน
- ผลสัมฤทธิ์ การเรียนภาษาไทยและกลุ่มสาระ อื่น ๆของนักเรียน
- รายงานผลสรุปผลการดำเนินการต่อผู้บริหาร
ผลจากการปฏิบัติ
(A: ขั้นพัฒนา แก้ไข / ปรับปรุง)
นำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไข โดยตรวจสอบกิจกรรมที่ควรปรับปรุง และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
ได้แก่ ปรับวิธีการที่ให้พ่อแม่ช่วยเหลือการเรียนของลูก / จัดให้มีกิจกรรมพี่ช่วยน้องในปีต่อไป ดังนี้
1. นักเรียนมีทักษะการอ่านออก เขียนได้ และอ่านคล่อง เขียนคล่อง เด็กมีความสนใจในการเรียนทำให้ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในทุกกลุ่มสาระของนักเรียนเพิ่มขึ้น ครูมีความกระตือรือร้น แสวงหานวัตกรรม ส่งเสริมใช้สื่อ จัดกิจกรรมแก้ปัญหาการอ่านออก เขียนได้ทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
2. ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ของนักเรียนสูงขึ้น
3. คณะครูจัดกิจกรรมแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของนักเรียนอย่างเป็นระบบ
4. ครูมีสื่อในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอ่านออกเขียนได้และอ่านเขียนคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ