สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
โครงการโรงเรียนปลอดขยะ(Zero Waste School)
โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์)
กระบวนการพัฒนา

ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินการผลักดันให้ “การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ”และจัดทำแผนที่เดินทางหรือ Road Mapการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในทิศทางเดียวกันและหนุนเสริมการดำเนินงานซึ่งกันและกัน ซึ่ง Road Map ดังกล่าว ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ประกอบด้วย ๑.เร่งการจัดการขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะพื้นที่วิกฤติ  ๒.ให้มีรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อจัดการขยะที่เข้ามาใหม่ โดยเน้นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และแปรรูปพลังงานจากขยะ ๓.จัดระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และ ๔. การสร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน

โรงเรียนบางเขน(ไว้สาลีอนุสรณ์) ร่วมกันในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาบูรณาการโรงเรียนปลอดขยะสู่แผนการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระด้วยมีความคาดหวังว่าหากผู้เรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติมีความรู้ความเข้าใจ  และช่วยกันลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทางโดยใช้หลัก 3R ได้แก่การลดปริมาณขยะ (Reduce)   การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างพอเพียง  เป็นการปลูกฝังลักษณะนิสัยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักและเห็นคุณค่าในการช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 โครงการโรงเรียนปลอดขยะ(Zero Waste School) ประกอบด้วย  8  กิจกรรม  ได้แก่ กิจกรรมคัดแยกขยะ กิจกรรมลูกบางเขนรักษ์คลองเปรมประชากร กิจกรรมขยะมีค่าเก็บเอามาใช้กันใหม่  กิจกรรมประกวดห้องเรียนปลอดขยะ กิจกรรมรณรงค์การคัดแยกขยะ  กิจกรรมทานให้หมดลดโลกร้อน กิจกรรมตลาดนัดสินค้ามือสอง และกิจกรรมผู้พิทักษ์รักษ์สิ่งแวดล้อม นักเรียนได้ปฏิบัติจริงและสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง       1.  กิจกรรมคัดแยกขยะ

กระบวนการ/ขั้นตอน 

          - แจกถังขยะสำหรับคัดแยกขยะในห้องเรียน ห้องเรียนละ ๓ ถัง  ได้แก่ ถังขยะทั่วไป ถังขยะกระดาษและถังขยะขวดพลาสติก  เพื่อนำขยะมาจัดการอย่างถูกวิธี เช่น ขยะทั่วไป นำมาทิ้งรวมด้านล่างจุดที่จัดไว้เพื่อทิ้งขยะทั่วไป เพื่อให้สำนักงานเขตหลักสี่ มารับไปจัดการขยะอย่างถูกวิธี ส่วนขวดพลาสติกและกระดาษ นำมาแลกสิ่งของที่ศูนย์รับแลกขยะ ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00 น.

          - จัดจุดแยกขยะนอกห้องเรียน เพื่อเป็นจุดการเรียนรู้ มีถังขยะครบ 4 ประเภท ได้แก่ ถังขยะรีไซเคิล ถังขยะอินทรีย์ ถังขยะอันตราย และถังขยะทั่วไป เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ให้กับนักเรียนฝึกคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง โดยมีนักเรียนแกนนำผู้พิทักษ์รักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้คอยดูแลและให้คำแนะนำแต่ละจุด

 2. กิจกรรมลูกบางเขนรักษ์คลองเปรมประชากร

กระบวนการ/ขั้นตอน 

          - นักเรียนระดับชั้นมัธยมปีที่ ๑ - ๓ เป็นแกนนำในการจัดขบวนรณรงค์ แจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ แจกน้ำหมักชีวภาพ และทำความเข้าใจกับชุมชนคลองเปรมประชากรเกี่ยวกับการรักษาแม่น้ำไม่ให้เน่าเสียโดยไม่ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ โดยดำเนินการภาคเรียนละ 1 ครั้ง

 ๓. กิจกรรมขยะมีค่าเก็บเอามาใช้กันใหม่

กระบวนการ/ขั้นตอน 

นำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกและเก็บรวบรวมไว้  มาใช้เป็นวัสดุในการประดิษฐ์เป็นสิ่งของ เครื่องใช้ในชีวิตประจำได้หลากหลาย เช่น กล่องนมนำมาทำหมวก กระเป๋า ที่รองจานทานอาหาร ตะกร้า หลอดดูดนำมาประดิษฐ์ดอกไม้  ขวดพลาสติกนำมาทำเชิงเทียน  ฝาขวดน้ำนำมาทำกิ๊บติดผมน่ารักๆ เป็นต้น

 

4. กิจกรรมประกวดห้องเรียนปลอดขยะ

กระบวนการ/ขั้นตอน 

เป็นกิจกรรมที่ดำเนินงานตลอดปีการศึกษา โดยเชิญชวนห้องเรียนทุกห้องเข้าร่วมประกวดห้องเรียนปลอดขยะ ชี้แจงและแจกเกณฑ์การประกวดให้แต่ละห้องรับทราบและนำไปพัฒนาปรับปรุงห้องเรียนให้ตรงตามเกณฑ์ จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินห้องเรียน ประกวดภาคเรียนละ 3 ครั้ง แล้วนำคะแนนมารวมกันทั้งปีการศึกษา ประกาศผลการประกวดก่อนสิ้นปีการศึกษาและมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครูและนักเรียนได้พัฒนาห้องเรียนให้ดียิ่งขึ้นไป

 5. กิจกรรมรณรงค์การคัดแยกขยะ

กระบวนการ/ขั้นตอน 

- จัดรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแก่ครู บุคลากรและนักเรียนหลังทำกิจกรรมหน้าเสาธง อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแต่ละประเภท มีการสาธิตการคัดแยกขยะ มีการตรวจสอบความเข้าใจ โดยให้นักเรียนทำการแยกขยะแต่ละชนิดที่เตรียมไว้ใส่ลงในถังแต่ละประเภท ครูและนักเรียนช่วยกันตรวจสอบความถูกต้อง

- แจกเอกสารแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการโรงเรียนปลอดขยะ(Zero Waste School) เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของการคัดแยกขยะ  ประเภทของถังขยะ คำศัพท์เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ

( 3R = Reduce  Reuse  Recycle) การนำขยะไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น

          - จัดป้ายนิเทศให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ การจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธีและการนำขยะที่คัดแยกนำกลับมาใช้ประโยชน์ ติดตามจุดต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียนมากยิ่งขึ้น

- เชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความเชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ  สำนักงานเขตหลักสี่  กรุงเทพมหานคร เพื่อมาจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะในโรงเรียน ให้ความรู้

ความเข้าใจถึงแนวทางในการลดปริมาณขยะ การแยกขยะ และการนำขยะไปใช้ประโยชน์และทบทวนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะในโรงเรียน ตามหลัก ๓R “ ใช้น้อย  ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ 

 6. กิจกรรมทานให้หมดลดโลกร้อน

กระบวนการ/ขั้นตอน 

          - ให้ความรู้แก่นักเรียนหลังกิจกรรมหน้าเสาธงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากเศษอาหารและผลกระทบที่เกิดจากเศษอาหารที่เหลือจำนวน

          - จัดทำป้ายนิเทศให้ความรู้เกี่ยวกับ ทานให้หมดลดโลกร้อน ได้อย่างไร

          - กำหนดข้อตกลงในการรับประทานอาหารให้นักเรียนปฏิบัติร่วมกันจนเป็นนิสัย

          - นักเรียนแกนนำคอยตรวจสอบการรับประทานอาหารของนักเรียน ก่อนนำถาดหรือภาชนะไปล้าง

          - ชั่งน้ำหนักเศษอาหาร จดบันทึกข้อมูลน้ำหนัก เพื่อเปรียบเทียบในแต่ละเดือนทำสถิติ และนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักต่อไป

 7. กิจกรรมตลาดนัดสินค้ามือสอง

กระบวนการ/ขั้นตอน 

          ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักเรียนให้มาลงทะเบียนขายสินค้ามือสอง ที่นำมาจากบ้าน สภาพดี นำมาขายในราคาไม่แพง  โดยจัดตลาดนัดเดือนละ 1 ครั้ง ทุกๆ สัปดาห์สุดท้ายของเดือน เพื่อเป็นการลดขยะที่บ้านที่เกิดจากของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และเป็นการสร้างรายได้ให้กับนักเรียน

 8. กิจกรรมผู้พิทักษ์รักษ์สิ่งแวดล้อม

 กระบวนการ/ขั้นตอน 

              ดำเนินงานตลอดปีการศึกษาโดยการคัดเลือกนักเรียนแกนนำระดับ ป.5 และ ม.2 ทั้งหมด 50 คน เพื่อทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนร่วมกับคณะกรรมการสภานักเรียน คอยดูแล ตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบริเวณโรงเรียน ได้แก่

          จุดที่ 1 ยืนประตูหน้าโรงเรียนร่วมกับครูเวรประจำวัน จำนวน 3 คน เพื่อคอยตรวจสอบการแต่งกายของนักเรียน  บันทึกจำนวนนักเรียนที่นำพลาสติกและโฟมเข้ามาภายในบริเวณโรงเรียน รวมทั้งจดบันทึกจำนวนนักเรียนที่มาสายแต่ละวัน เพื่อรายงานครูเวรประจำวันให้ทำการแนะนำตักเตือน

          จุดที่ 2 บริเวณสนาม จำนวน 2 คน ซึ่งจะต้องคอยดูแลไม่ให้มีการทิ้งขยะของนักเรียนตามพื้น และต้องยืนประจำจุดถังคัดแยกขยะเพื่อคอยตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่นักเรียนที่นำขยะมาทิ้งแยกให้ถูกประเภท

          จุดที่ 3 โรงครัว จำนวน 2 คน คอยตรวจสอบการรับประทานอาหารของนักเรียนว่าทานอาหารหมดหรือไม่ ก่อนที่จะนำภาชนะมาล้าง ถ้าทานไม่หมดให้ทำการแนะนะและตักเตือนอย่างเป็นกัลยาณมิตร

          จัดที่ 4 อาคารเรียนทั้ง 3 อาคาร จำนวน  3 คน คอยเดินตรวจสอบการปิดน้ำ ปิดไฟฟ้า  การวางรองเท้า ความสะอาดบนอาคารเรียน เพื่อป้องกันการสิ้นเปลืองพลังงานและเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

           ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เวรประจำวันจะต้องมาลงชื่อรับปลอกแขนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามจุดที่รับผิดชอบ เมื่อเสร็จแล้วจะต้องบันทึกข้อมูลการตรวจทุกวัน เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป


ผลจากการปฏิบัติ

คุณภาพของผู้เรียน จิตสำนึก และพฤติกรรมการจัดการขยะที่ดี

       1. ทักษะการปฏิบัติการคัดแยกขยะ  นักเรียนทุกระดับชั้นที่ได้รับความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแต่ละประเภทแล้ว สามารถคัดแยกขยะได้ถูกต้อง สามารถนำไปกำจัดได้อย่างเหมาะสมและง่ายต่อการจัดเก็บ

      ๒. ด้านจิตสำนึก จากการสังเกตพฤติกรรมการทิ้งขยะของนักเรียน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ตระหนักเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนตามพื้น และมีจิตอาสาในการเก็บขยะที่คนอื่นทิ้งไว้ตามพื้นเมื่อเดินผ่านด้วยความเต็มใจ

      3. ด้านพฤติกรรม นักเรียนส่วนใหญ่เริ่มมีความรู้สึกว่าการทิ้งขยะไม่เป็นที่การไม่คัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง รวมทั้งการนำพลาสติกและโฟมใส่อาหารเข้ามารับประทานในบริเวณโรงเรียนเป็นสิ่งที่น่าอายและไม่ควรทำอีก รู้สึกเขินอายเมื่อโดนตักเตือน และรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ทิ้งขยะตามพื้น ทิ้งขยะลงในถังที่กำหนดและคัดแยกประเภทตามที่เคยได้รับความรู้มา ส่งผลให้โรงเรียนสะอาดน่าอยู่