สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
(Best Practice) การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET)
โรงเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจ(พุ่มประดับราษฎร์สามัคคี)
กระบวนการพัฒนา

1.  เกริ่นนำ

กระบวนการ/วิธีการดำเนินงานในอดีต

          โรงเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจ ( พุ่มประดับราษฎร์สามัคคี ) 10 ปีที่ผ่านมา ( พ.ศ.2551 ) มีคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาต่ำกว่าระดับประเทศ จนกระทั่งปี พ.ศ.2555 คะแนนเฉลี่ย 3 วิชา คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษสูงกว่าระดับประเทศ มี 1 วิชา ที่มีคะแนนเฉลี่ยที่ต่ำกว่าประเทศ  ทำให้ไม่เป็นที่พึงพอใจของคณะครู  ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ดังนั้น คณะครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจึงร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ( O-NET ) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมการและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีความพร้อมรับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ( O-NET ) ในปีการศึกษาต่อไป และมีคะแนนเฉลี่ยผ่านระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในทุกปีการศึกษา

 สภาพทั่วไป

ในบริเวณรัศมี 1 กิโลเมตร  โรงเรียนเคยได้รับปัญหาต่อความไม่ปลอดภัยของทรัพย์สิน แต่ในปัจจุบันมีการเพิ่มเวรยามรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง  โรงเรียนมีอาณาบริเวณเป็นสัดส่วน บรรยากาศดี บริเวณร่มรื่น เหมาะเป็นสถานศึกษา ชุมชนที่พักอาศัยอยู่รอบ ๆ โรงเรียนเป็นชุมชนที่มีคุณภาพ    รักถิ่นและรักโรงเรียน ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้มีสภาพดี การคมนาคมสะดวก ผู้ปกครองมีความพร้อมให้การสนับสนุนการศึกษาอย่างดียิ่ง มีความสัมพันธ์กับครูอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ คณะกรรมการสถานศึกษาซึ่งส่วนใหญ่มีที่พักอยู่ใกล้โรงเรียน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนและดูแลการศึกษาของโรงเรียนให้ทันสมัยและมีคุณภาพ รวมทั้งมีคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองที่เอาใจใส่ให้นักเรียนรักการเรียนรู้ และมีระเบียบวินัยอย่างดียิ่ง

 

โอกาสและข้อจำกัดของโรงเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจ (พุ่มประดับราษฎร์สามัคคี)

โรงเรียนมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองที่เข้มแข็ง ทำให้การจัดการศึกษาเป็นไปในทิศทางที่ดีนักเรียนได้รับโอกาสด้านส่งเสริมสนับสนุนทางการศึกษามากขึ้น  โครงการเด่นที่โรงเรียนประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ คือ  โครงการยกระดับผลสัมฤทิธิ์ทางการเรียน (O-NET) ทำให้โรงเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจ (พุ่มประดับราษฎร์สามัคคี) มีผลการทดสอบ O-NET มีผลคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ 5 ปีต่อเนื่อง (พ.ศ. 2559 – 2563) ข้อจำกัดของโรงเรียน คือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวอพยพ ทำให้นักเรียนมีการย้ายเข้า-ออกอยู่เป็นประจำ

 

ลักษณะสำคัญของวิธีแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ

          กระบวนการทำงานเชิงระบบ โดยใช้วงจรคุณภาพ PDCA ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-NET)

 

วัตถุประสงค์ของวิธีหรือแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ

          เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มีคะแนนค่าเฉลี่ยของโรงเรียนสูงกว่าคะแนนค่าเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

 

เป้าหมาย

 

ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ ร้อยละ 100 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องการเข้ารับการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน

ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ร้อยละ 100 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เข้าสอบมีค่าเฉลี่ยของผลการทดสอบสูงกว่าระดับประเทศ

2.  ลำดับขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมพัฒนา Flow Chart (แผนภูมิ) ของวิธีหรือแนวปฏิบัติ

ที่เป็นเลิศ

2.1  ขั้นวางแผน (Plan)

          2.1.1  ประชุมครู เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

          2.1.2  แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน

          2.1.3  วิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคลและคัดกรองนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่องและคิดวิเคราะห์ไม่เป็น กลุ่มอ่านคล่อง เขียนไม่คล่อง คิดวิเคราะห์ไม่เป็น  กลุ่มอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดวิเคราะห์ไม่เป็น และกลุ่มอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดวิเคราะห์เป็น

          2.1.4  ออกแบบวิธีการหรือนวัตกรรม

 

2.2 ดำเนินการตามแผน (Do)

          2.2.1 สร้างเครื่องมือหรือนวัตกรรมที่ออกแบบไว้

          2.2.2 ดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาตามเครื่องมือที่สร้าง ดังนี้

                   2.2.2.1 กิจกรรมเติมการสอนให้เข็มแข็งขึ้น เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้ง 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในเวลาเรียนปกติ แต่จะมีการวิเคราะห์และคัดกรองผู้เรียนเป็นกลุ่ม ๆ โดยแต่ละกลุ่มจะใช้เทคนิควิธี สื่อการสอนและแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ตลอดจนมีการเพิ่มความเข็มข้นในเนื้อหาวิชาที่เรียนมากยิ่งขี้น และจะมีกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบและขั้นตอนจากง่ายไปหายาก โดยมีรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมดังนี้

          1. ดำเนินการคัดกรองนักเรียน และจัดกลุ่มนักเรียนตามระดับความสามารถในการเรียนรู้

          2. เลือกเทคนิคและวิธีสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตลอดจน สื่อ เครื่องมือวัดและประเมินผลให้เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ

          3. จัดทำแนวทางการพัฒนาผู้เรียนหรือแผนการจัดการเรียนรู้ และจัดหาสื่อ นวัตกรรม ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม

          4. ดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการพัฒนาหรือแผนการจัดการเรียนรู้และมีการเสริมแรงโดยการชมเชยผู้ที่เรียนรู้ได้ดีและคอยให้กำลังใจคนที่เรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น

          5. ดำเนินการวัดผลและประเมินผลทุกระยะ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาการเรียนการสอน และพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลต่อไป

                   2.2.2.2 กิจกรรมเติมวิชาการให้เข้มแข็ง โดยดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสริมให้นักเรียนทั้งในและนอกเวลาเรียน ตามที่โรงเรียนกำหนดเป็นจุดเน้น หรือดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมสอนซ่อมเสริม กิจกรรมหยุดทุกงานอ่านทุกคน กิจกรรมท่องคำศัพท์ กิจกรรมท่องอาขยาน  กิจกรรมท่องสูตรคูณ กิจกรรมคณิตคิดเร็ว กิจกรรมเขียนเรื่องจากภาพ กิจกรรมเขียนเรียงความ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ดำเนินการซ้ำๆ บ่อยๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ

 

2.3 การตรวจสอบ (Check)

          2.3.1 ผู้บริหารนิเทศ กำกับ ติดตาม อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

          2.3.2 ให้ครูชั้นประถมปีที่ 6 รายงานผลการดำเนินงานทุกสัปดาห์

 

2.4 การรายงานเพื่อปรับปรุงพัฒนา (Action)

          2.4.1 ครูวิชาการสรุปรายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ให้ผู้บริหารทราบ

          2.4.2 นำผลการประเมินมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อที่จะได้นำไปเป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป


ผลจากการปฏิบัติ

3. ผลการดำเนินการ

          3.1 โรงเรียนมีผลการประเมิน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ สาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภาษาอังกฤษ

          3.2  ผู้ปกครองและนักเรียน มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (O-NET)

 

4. บทเรียนที่ได้รับ

          การทำงานที่เป็นระบบและความทุ่มเทเอาใจใส่ของคณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้

 

5.  ปัจจัยความสำเร็จ

          5.1  ครูให้ความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพและมีความต่อเนื่องในการดำเนินงาน

          5.2  ผู้บริหารให้ความสำคัญและกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง

          5.3 ผู้ปกครองให้ความสำคัญและช่วยสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนต่าง ๆ เป็นอย่างดี

          5.4 นักเรียนให้ความสำคัญและตั้งใจเรียน

          5.5 มีกระบวนการการทำงานที่เป็นระบบ PDCA

 

6. การเผยแพร่/การได้รับการยอมรับ และรางวัลที่ได้รับ

          6.1 คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน ตลอดจนชุมชนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-NET)

          6.2  ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563  โรงเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจ (พุ่มประดับราษฎร์สามัคคี) เป็นโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ สาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภาษาอังกฤษ

          6.3 โรงเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจ (พุ่มประดับราษฎร์สามัคคี) โรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่อเนื่อง 4 ปี คือ ปีการศึกษา 2559 - 2562 ได้รับโล่และใบประกาศเกียรติคุณจากกรุงเทพมหานคร และปีการศึกษา 2563 โรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่อเนื่อง 5 ปี คือ ปีการศึกษา 2559 – 2563    


เอกสารเพิ่มเติม :[ดาวน์โหลดเอกสาร]