สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
แนวทางพัฒนาผู้เรียนด้วยโมเดลไผ่ตัน ๔.๐
โรงเรียนวัดไผ่ตัน
กระบวนการพัฒนา

กระบวนการการทำงาน

๑.      ขั้นวางแผน (Plan)

วางแผนกำหนดนโยบาย ประชุมจัดทำคำสั่งมอบหมายงานแบ่งหน้าที่รับผิดชอบมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบฝ่ายต่าง ๆ พร้อมทั้งประชุมวางแนวทางการพัฒนาผู้เรียน ตามแนวทางโมเดลไผ่ตัน ๔.๐ คือการจัดกระบวนการเรียนการสอนพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง โดยใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Child Centred Education หรือ CCE และพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี   โดยใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบ มาร์ชชิ่งความดี (พัฒนาวินัยเชิงบวก)

๒.      ขั้นปฏิบัติการ (Do)

นำการจัดการเรียนการสอน Child Centred Education หรือ CCE และมาร์ชชิ่งความดี (พัฒนาวินัยเชิงบวก) ลงสู่ผู้เรียนทั้งโรงเรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน ดังนี้

๑.      การพัฒนาการเรียนการสอนแบบ Child Centred Education หรือ CCE

พัฒนาด้านหลักสูตร

๑. วิเคราะห์หลักสูตรเพื่อเชื่อมโยงกับผลการวิเคราะห์ผู้เรียนที่จัดกลุ่มผู้เรียนตามความสามารถ
มีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนสอดคล้องกับ
VAK และบูรณาการเนื้อหาระหว่างกลุ่มสาระหรือรายวิชา

๒. ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามจุดหมายของหลักสูตร จุดประสงค์รายวิชาต้องครอบคลุมทั้งในด้านความรู้  ทักษะ  และเจตคติ  

๓. กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอน  เทคนิคการสอน  การเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล จัดกิจกรรมบูรณาการระหว่างสาระวิชาต่าง ๆ เชื่อมโยงเนื้อหากับชีวิตจริง

 

๔. จัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง กระตุ้นความคิด มีกระบวนการการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นระบบ

๕. จัดกิจกรรมให้มีความยืดหยุ่นเปิดกว้างสำหรับนักเรียน เน้นความแตกต่างระหว่างบุคล เช่น การทำใบงานที่แตกต่างกัน เป็นต้น

๖. มีวิธีการวัดผลและประเมินผลให้เป็นไปตามสภาพจริง

พัฒนาด้านครู

          ๑. ครูศึกษาข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียนเป็นรายบุคคลครูมีการศึกษาข้อมูลของนักเรียน วิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคลโดยใช้แบบสำรวจ แบบคัดกรอง แบบสัมภาษณ์เพื่อให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคน และเข้าใจถึงพัฒนาการของนักเรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และพื้นฐานความต้องการของนักเรียนตามศักยภาพและความสามารถของนักเรียน

๒. ครูเปลี่ยนมุมมอง ปรับทัศนคติในการคิด เข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน ความแตกต่างแต่ละบุคคล

๓. ครูคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเชิงลึกเน้นผู้เรียนเป็นรายบุคคล มีการทำใบงาน แบบฝึกให้เหมาะกับผู้เรียน

๔. ครูสนับสนุนผู้เรียนตามศักยภาพมีสัมพันธภาพที่ดีต่อนักเรียนทั้งทางกายและจิตใจ ให้เกียรติ
รับฟังเป็นที่ปรึกษา ช่วยแก้ปัญหาและชื่นชมเพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี ทำให้นักเรียนมีความสุข  มีความเชื่อมั่น  กล้าคิด  กล้าแสดงออก

๕. ครูมีสัมพันธภาพที่ดีต่อเด็กจัดกิจกรรมและสื่อการสอนที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุขสอดคล้องกับ  VAK และจุดประสงค์การเรียนรู้

๖. ครูปรับเปลี่ยนวิธีการสอนจากการลงโทษ เป็นการให้การเสริมแรงและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้เรียนมีการเสริมแรงทั้งด้วยวาจา และการปฏิบัติ เช่น การให้ดาว การกล่าวชม การนำผลงานของนักเรียนขึ้นจัดบอร์ดเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้เรียน

๗. ครูสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีการจัดมุมต่างๆ ทั้งในและนอกให้เรียนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ เช่น มุมการอ่าน มุมอุปกรณ์ มุมความรู้ มุมส่งงาน ฯลฯ

๘. ครูเป็นที่ปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาครูปฏิบัติตนเป็นผู้ที่สร้างความไว้วางใจให้ผู้เรียน ไม่ดูห่างเหิน
มีความเป็นกันเอง ผู้เรียนเกิดความสบายใจกล้าที่จะปรึกษา ครูมีการประสานงานกับผู้ปกครองในการร่วมพัฒนาผู้เรียนอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง

๙. ครูมีการจัดการ วางแผน ในการจักกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ดังนี้

                 ๙.๑ ครูศึกษาเรื่องมาตรฐานการศึกษาและมีการวิเคราะห์หลักสูตรให้เข้าใจ แล้วนำมาพัฒนาหลักสูตรรายวิชาที่ตนสอน

                 ๙.2 ครูวางแผนการสอน ว่าควรจะสอนอย่างไร รวมทั้งจะต้องสามารถกำหนดสิ่งที่จะบรรลุผลหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือพฤติกรรมของนักเรียนที่จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับการศึกษา โดยเน้นการจัดกิจกรรมและการใช้สื่อที่ส่งเสริมการเรียนรู้

                 ๙.๓ ครูนำกระบวนการวิจัยเข้ามาใช้ในการสอนของครู และการเรียนของนักเรียนเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ควบคู่กับการเรียนรู้

                 ๙.๔ ครูดำเนินการสอน โดยทำงานร่วมกับผู้เรียนหมายความว่า ต้องลดบทบาทการบอกของครูมาเป็นการทำงานร่วมกับผู้เรียน โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้มีบทบาทในการเรียนมากขึ้น

                 ๙.๕ ครูมีการวัดประเมินผลการสอน ว่าสิ่งที่ครูสอนไปนั้นบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด โดยวัดจากผลการเรียนรู้ของผู้เรียน พิจารณาเป็นรายบุคคลและรายชั้นเรียน

                 ๙.๖ ครูวิเคราะห์ผลจากการสอน และผู้เรียน เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอนในต่อไป

                 ๙.๗ ครูบันทึกสรุปผลการสอน ว่าในคาบหรือหน่วยนั้นมีความสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องแก้ไขอย่างไร มีคำแนะนำเพื่อจะนำไปปรับปรุงต่อไปอย่างไร โดยบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้เป็นหนึ่งหน่วย

พัฒนาด้านผู้เรียน

๑. นักเรียนมีความสุขในการเรียนเพิ่มมากขึ้น

          ๒. นักเรียนมีทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ

๓. นักเรียนกล้าตัดสินใจ กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

๔. นักเรียนมีสัมพันธภาพที่ดีกับกลุ่ม

๕. นักเรียนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพและความต้องการ

๖. ปรับแนวคิดทัศนคติของผู้เรียนให้เห็นความสำคัญของการตั้งใจเรียน มีการทำข้อตกลง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกถึงแนวคิดของตนเอง

พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

          1. การจัดวางวัสดุได้จัดวัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการ  เพื่อให้เด็กสามารถใช้หรือทำกิจกรรมได้สะดวกด้วยตนเอง 

          2. วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์  ควรให้มีขนาดเหมาะสมกับเด็ก

          3. การจัดพื้นที่ในห้องเรียนให้เหมาะสม เลือกที่ตั้งครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ  และมุมประสบการณ์โดยคำนึงถึงทิศทางลมเหมาะสม แสงสว่างเพียงพอต่อการทำกิจกรรมไม่รบกวนสายตาเด็กขณะปฏิบัติกิจกรรมสร้างบรรยากาศให้ร่มรื่นทุกจุดของห้องควรให้มองเห็นได้โดยรอบ

          4.  จัดสภาพแวดล้อมในห้องให้มีความสะอาดปลอดภัยโดยตรวจความเรียบร้อยของวัสดุ อุปกรณ์ สื่อและเครื่องเล่นหากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมโดยเร็วกำหนดขอบเขตของมุมประสบการณ์ให้เด็กรู้ดูแลบริเวณทั่วไปให้ปลอดภัยจากสัตว์ แมลง พืช และสารเคมีที่มีพิษครุภัณฑ์ โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ควรเป็นมุมแหลมที่เป็นอันตราย

๕. จัดมุมเสริมทักษะพัฒนาการเรียนรู้ที่หลากหลายเช่น มุมส่งเสริมการอ่าน มุมเกมการศึกษามุมศิลปะ  มุมส่งงาน มุมสะอาด มุมอุปกรณ์

๖. จัดสภาพแวดล้อมให้สวยงามเหมาะกับการเรียนรู้

๗. จัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สะดวกต่อการหยิบใช้และจัดเก็บเป็นระเบียบมีการจัดมุมกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมอุปกรณ์ให้พร้อมใช้และเพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน

๘. จัดบอร์ดบริเวณทั้งในและห้องเรียนให้มีความเป็นปัจจุบัน ทันสมัย แปลกใหม่อยู่เสมอ

๙. จัดบอร์ดผลงานนักเรียนให้มีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนนักเรียนได้นำผลงานขึ้นทุกคน

 

๒.      การนำมาร์ชชิ่งความดีลงสู่ผู้เรียน

โรงเรียนวัดไผ่ตันมีการนำวินัยเชิงบวกลงสู่นักเรียนทั้งโรงเรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน ดังนี้

๑. การนำวินัยเชิงบวกลงสู่กิจวัตรประจำวันของโรงเรียน

๑) กิจกรรมหน้าเสาธง เน้นการเข้าแถวให้เป็นระเบียบ ให้นักเรียนปรบมือด้วยโค้ดมาร์ชชิ่งความดี และเลิกแถวขึ้นห้องอย่างเป็นระเบียบ

๒) การดำเนินชีวิตประจำวันของนักเรียน ได้แก่

- การเข้าแถวซื้อของให้เป็นระเบียบไม่แซงคิว

- การอยู่ร่วมกันในห้องเรียนอย่ามีระบบ ไม่ทะเลาะ มีสมาธิในการเรียน

- การเข้าห้องเรียนตรงเวลา

- การพูดคุยกันอย่างสุภาพ

- การรับประทานอาหารอย่างมีมารยาท และรักษาความสะอาด

- การทำความสะอาดพื้นที่ที่รับผิดชอบ

-การใช้ห้องน้ำ

                             ๓) เสียงตามสาย มีการเรียกเตือนให้ทำหน้าที่ของตนในการทำความสะอาดพื้นที่ที่รับผิดชอบ การอ่านหนังสือตอนเช้า การเชิญชวนให้เข้าโรงเรียนให้ตรงเวลาด้วยเพลง

                    ๒. การนำวินัยเชิงบวกลงสู่กิจกรรมของโรงเรียน

                             ๑) กิจกรรมกีฬาสี

                             ๒) การสวดมนต์วันศุกร์

                             ๓) การสวนสนามยุวกาชาด

                             ๔) โครงการโรงเรียนคุณธรรม

๓. การเรียนการสอนในห้องเรียน มีการบูรณาการความดีพื้นฐานสากล ๕ ประการในการเรียนการสอนทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนทำแผนการสอนที่บูรณาการความดีพื้นฐานสากล ๕ ประการ ในกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ ความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความสุภาพ ความตรงเวลา และความมีสมาธิ ซึ่งสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของโรงเรียนวัดไผ่ตันที่ว่า“ลูกไผ่ตัน มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ มีจิตสาธารณะ”

๓.      ขั้นตรวจสอบ (Check)

จัดระบบนิเทศกระบวนการเรียนการสอนภายในแบบกัลยาณมิตร และมีการกำกับติดตามโดยคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายประเมินผล เพื่อให้เห็นพัฒนาการของผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียน ด้วยการสังเกต บันทึกผล ประเมินผล พฤติกรรมของผู้เรียนในโรงเรียนในขณะทำกิจกรรมต่างๆ และสภาพแวดล้อมในของโรงเรียน

๔.      ขั้นปรับปรุง และขยายผล (Act)

ปรับปรุงการดำเนินการให้เหมาะสม จากการตรวจสอบขั้นที่ ๓ ได้แก้ไขข้อบกพร่องที่พบ ดังนี้
๑) การมาโรงเรียนสาย นักเรียนบางส่วนยังคงมาโรงเรียนสายเป็นประจำ แก้ไขโดย ทำหนังสือถึงผู้ปกครองเพื่อให้ครูประจำชั้นปรับปรุงแก้ไขและประสานกับผู้ปกครองเป็นรายบุคคลตามความเหมาะสมต่อไป
๒) การลงมาทำความสะอาดพื้นที่ที่รับผิดชอบช้า แก้ไขโดยการใช้เสียงตามสายประกาศเตือนนักเรียนเมื่อเพลงหน้าที่เด็กดังขึ้น ๓) การเข้าแถวหน้าเสาธงการรวมแถวเพื่อกลับบ้านที่สนาม ทำให้นักเรียนเป็นระเบียบมากขึ้น ๔) การใช้โค้ดมาร์ชชิ่งความดีในการเรียกความพร้อมและสมาธิของนักเรียน ๕) การตรวจเครื่องแต่งกายของผู้เรียนเป็นประจำสม่ำเสมอซึ่งทำให้ผู้เรียนแต่งกายเรียบร้อยถูกระเบียบมากขึ้น
? 


ผลจากการปฏิบัติ

จากการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบคู่ขนานด้วยระบบ CCE และมาร์ชชิ่งความดีของสถานศึกษาที่โรงเรียนวัดไผ่ตันร่วมกันพัฒนาขึ้น พบว่าการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนประสบผลสำเร็จบรรลุตามเป้าหมาย ดังนี้

ด้านตัวชี้วัดเชิงปริมาณ

๑.      นักเรียนโรงเรียนวัดไผ่ตันทุกคนได้รับการพัฒนาตามแนวทางโมเดลไผ่ตัน ๔.๐ คิดเป็น ๑๐๐%

๒.      ผู้บริหาร คณะครูและบุคลากรทุกคนร่วมกันจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนตามแนวทางโมเดลไผ่ตัน ๔.๐ คิดเป็น ๑๐๐%

 

 

ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ

๑.      ผู้เรียนมีพัฒนาการ และมีคุณสมบัติตรงตามวินัยพื้นฐานความดีสากล ๕ ประการ คือ
สะอาด ระเบียบ สุภาพ ตรงเวลา และมีสมาธิ คิดเป็นร้อยละ ๗๐

๒.       ผู้เรียนมีผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดีและดีมากคิดเป็นร้อยละ ๗๐

๓.      ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่สถานศึกษากำหนด ร้อยละ ๖๐

๔.      ผู้เรียนมีผลงานเชิงประจักษ์

บทเรียนที่ได้รับ

          ๑.การที่จะพัฒนาการศึกษาในยุค ๔.๐ ให้มีคุณภาพนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
การพัฒนาการศึกษาจึงจะมีประสิทธิภาพประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้วย
CCE และมาร์ชชิ่งความดี วินัยเชิงบวก” ในครั้งนี้ โรงเรียนวัดไผ่ตันได้รับความร่วมมือจาก ผู้ปกครอง ชุมชน วัด รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นอย่างดี

          ๒. การพัฒนา แก้ไข พฤติกรรมของผู้เรียน เป็นการพัฒนาในเชิงลึกต้องอาศัยเวลาในการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้เรียน ดังนั้นการทำกิจกรรมต่างๆ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำซ้ำๆ จนเกิดเป็นนิสัยที่ถาวร โรงเรียนได้รับบทเรียนจากการเริ่มต้นพัฒนาเมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๙ จึงได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืนกับผู้เรียนจึงจัดให้เป็นมาตรฐานเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติต่อไป