สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
โรงเรียนดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์
โรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์)
กระบวนการพัฒนา

โรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) มีนโยบายจัดการเรียนการสอนโดยยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย  ซึ่งทางโรงเรียนได้ตระหนักเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอน เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยด้านดนตรีไทยในสถานศึกษา โดยปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีของนักเรียน มีการดำเนินการอย่างมีระบบ มีการวางแผน เพื่อประสิทธิภาพและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างยั่งยืน โดยมีการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม ตรงตามความต้องการและจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน สอดแทรกการทะนุบำรุงรักษา การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดนตรีไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวิถีชีวิตและรักษาวัฒนธรรมของชาติไว้ จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) จึงได้ดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยใช้วิธีการสอนแบบบูรณาการ จนทำให้เกิดผลเชิงประจักษ์อย่างชัดเจน นักเรียนสามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีไทยได้จริง พร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทยจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องได้อย่างดี อีกทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักอนุรักศิลปวัฒนธรรมไทย อันเป็นมรดกที่ล้ำค่ายิ่งควรค่าแก่การสืบทอด

 

1. หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะด้านดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีไทย ดำเนินการปฏิบัติในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ(สาระดนตรี) ซึ่งในปัจจุบัน สถานศึกษาได้จัดการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โดยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕5๑ ( ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๐ ) โดยนำมาศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษา ในส่วนของสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระดนตรี มีการศึกษาสภาพโรงเรียน ความต้องการของชุมชน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค มาใช้ในการทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับชุมชน มีการจัดการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติกำหนดโครงสร้างให้เรียนรู้สาระดนตรี 1 ชั่วโมง/สัปดาห์/ภาคเรียน และกำหนดให้นักเรียนที่สนใจเลือกเรียนในกิจกรรมชมรมดนตรีไทย 1 ชั่วโมง/สัปดาห์/ภาคเรียน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพทางด้านดนตรีไทย นอกเวลาเรียนโดยกำหนดให้นักเรียนที่สนใจเป็นพิเศษได้เรียนรู้นอกเวลา ช่วงเช้าเวลา ๗.๐0 น. พักกลางวันเวลา๑๑.๔๐-๑๒.๓๐น. หลังเลิกเรียนเวลา 1530 – 1๖.๓0 น.ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และในวันหยุดตามความเหมาะสม

 

2. โครงการ/กิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละช่วงชั้น

โรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) ได้จัดทำโครงการและกิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนด้านดนตรีไทย โดยจัดตั้งโครงการพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีไทย มีรายละเอียดดังนี้

โครงการพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีไทย

วัตถุประสงค์

๑.  เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นไทยให้เด็กและเยาวชน ตระหนักถึงความเป็นชาติไทย

                    ๒.  เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

๓.  เพื่อเป็นการส่งเสริม  สนับสนุน  และพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถและมีความสนใจใน ด้านดนตรี

                    ๔.  เพื่อเป็นการฝึกความเชื่อมั่นในตนเองและกล้าแสดงออกอย่างภาคภูมิใจ

.  เพื่อเผยแพร่และให้ความอนุเคราะห์ด้านดนตรีไทยแก่ชุมชน หน่วยงานราชการและ หน่วยงานเอกชน          

วิธีดำเนินการ

                    1. จัดทำโครงการเสนอเพื่อขออนุมัติ

                    2. ขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน

                    3. ประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน

                    4. จัดทำแผนปฏิบัติการและปฏิทินปฏิบัติงาน

                    5. ประชุมคณะกรรมการชี้แจงข้อมูลกำหนดแนวทางดำเนินงาน

                    6. ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6

                    7. กำเนินกิจกรรมช่วยงานชุมชนและหน่วยงานต่างๆ

                    8. สรุปและประเมินผล

          งบประมาณ

          ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณของโรงเรียน

          ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑. เด็กและเยาวชน ได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นไทย ภูมิใจและตระหนักถึงความเป็นไทย

                    ๒. นักเรียนสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

                    ๓. นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพด้านดนตรีไทย

                    ๔. นักเรียนเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยในตนเอง  และมีความสามัคคีในหมู่คณะ

                    ๕. นักเรียนกล้าแสดงออกทางด้านดนตรีร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน และชุมชน

การจัดการเรียนการสอนดนตรีไทยของโรงเรียนวัดบึงบัวเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ดังนี้

๑. ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑

การจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเสียงของเครื่องดนตรีไทย รู้จักเครื่องดนตรีไทย บทเพลงในท้องถิ่น เพลงกล่อมเด็ก นักเรียนทุกคนสามารถขับร้องเพลงไทยเดิม  เพลงพม่าเขว เพลงเต้ยโขง (เพลงแว่วเสียงแคน) และปฏิบัติเครื่องดนตรีประเภทเครื่องประกอบจังหวะ ( กรับ โหม่ง) ได้

๒. ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒

การจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการกำเนิดเสียงของเครื่องดนตรีไทย รู้จักเครื่องเครื่องดนตรีไทย บทเพลงและดนตรีในท้องถิ่น ขับร้องเพลงในน้ำมีปลาในนามีข้าว  นักเรียนทุกคนสามารถขับร้องเพลงไทยเดิม  เพลงพม่าเขว เพลงเต้ยโขง (เพลงแว่วเสียงแคน) และสามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีประเภทเครื่องประกอบจังหวะ ( กรับ โหม่ง) ได้

๓. ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓

การจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของเครื่องดนตรีไทย โน้ตดนตรีไทย บทเพลงและดนตรีในท้องถิ่น นักเรียนทุกคนสามารถขับร้องเพลงไทยเดิม  เพลงพม่าเขว เพลงเต้ยโขง (เพลงแว่วเสียงแคน) เพลงเขมรกำปอ และสามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีประเภทเครื่องประกอบจังหวะ ( กรับ โหม่ง) ได้

๔. ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔

การจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเภทและเสียงของเครื่องดนตรี การใช้และการดูแลรักษาเครื่องดนตรี  สัญลักษณ์โน้ตดนตรีไทย นักเรียนมีขลุ่ยเพียงออเป็นของตนเองโดยนักเรียนสามารถเป่าขลุ่ยเพียงออเพลงเต้ยโขง  เพลงพม่าเขวได้ มีนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเล่นเครื่องดนตรีไทยประเภทดำเนินทำนองและประกอบจังหวะได้  ประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก จะเข้ ซอด้วง ซออู้ กลองแขก กลองยาว และอังกะลุง โดยสามารถเล่นรวมวงประเภทวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย

วงกลองยาว วงอังกะลุงได้

๕. ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕

การจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวงดนตรีไทยประเภทต่างๆ  การอ่านโน้ตดนตรีไทย การขับร้องเพลงไทยเดิม เพลงลาวเสี่ยงเทียน นักเรียนมีขลุ่ยเพียงออเป็นของตนเองโดยนักเรียนสามารถเป่าขลุ่ยเพียงออเพลงเต้ยโขง  เพลงพม่าเขวได้ มีนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเล่นเครื่องดนตรีไทยประเภทดำเนินทำนองและประกอบจังหวะได้ประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก จะเข้ ซอด้วง ซออู้ กลองแขก กลองยาว และอังกะลุง โดยสามารถเล่นรวมวงประเภทวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย

วงกลองยาว วงอังกะลุงได้

๖. ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖

การจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับศัพท์สังคีต ประเภทและหน้าที่ของเครื่องดนตรีพื้นบ้าน  การอ่านโน้ตและการเขียนโน้ตดนตรีไทย การขับร้องเพลงไทยเดิมเพลงลาวดวงเดือน นักเรียนมีขลุ่ยเพียงออเป็นของตนเองโดยนักเรียนสามารถเป่าขลุ่ยเพียงออเพลงเต้ยโขง  เพลงพม่าเขวได้ มีนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเล่นเครื่องดนตรีไทยประเภทดำเนินทำนองและประกอบจังหวะได้ประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก จะเข้ ซอด้วง ซออู้ กลองแขก กลองยาว อังกะลุง โดยสามารถเล่นรวมวงประเภทวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย วงกลองยาว วงอังกะลุงได้

 

3. หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องและให้การสนับสนุน

๑. ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมดนตรีไทยในการประกวดแข่งขันดนตรีไทยทุกครั้งซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆและมอบของรางวัลให้แก่นักดนตรี มีนโยบายให้นักเรียนทุกคนสามารถเล่นดนตรีไทยได้อย่างน้อยคนละ 1 ชิ้น ให้การส่งเสริมสนับสนุนอำนวยความสะดวกในด้านการเรียนการสอนดนตรีไทยทุกระดับชั้น ส่งเสริมให้ขวัญกำลังใจแก่ครูผู้สอน และนักเรียน จนได้รับคัดเลือกเป็นสถานศึกษาดีเด่นทางวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านประจำปี ๒๕๕๗-๒๕๕๙  ได้รับรางวัลในการประกวดบรรเลงดนตรีไทย ศรทอง ชิงถ้วยพระราชทาน ตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน  และได้รับรางวัลเหรียญทองศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 67-68  อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถทางด้านดนตรีไทยทั้งในโรงเรียนและนอกสถานที่

๒. คณะกรรมการสถานศึกษาสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมด้านดนตรีไทยมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักดนตรีไทยในการแสดงงานต่างๆ

๓. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรม เขตบางเขน และสำนักงานเขต  ให้การสนับสนุนวงดนตรีไทยของโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) โดยสนับสนุนให้นำวงดนตรีไทย อังกะลุง และกลองยาว ไปแสดงในงานประเพณีและวันสำคัญต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

๔. ผู้ปกครอง ให้ความร่วมมือและสนับสนุนในทุกๆกิจกรรมของดนตรีไทยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

๕. ชุมชน ให้การสนับสนุนในการให้นำวงดนตรีไทย ร่วมแสดงในวันสำคัญและงานต่างๆของชุมชน โดยมีการสนับสนุนเงินรางวัลเพื่อปรับปรุงและซ่อมแซมเครื่องดนตรีไทย

 

4. ครูผู้สอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน

          4.1 ครูประจำการและครูช่วยสอน

นางสาววาสนา  กุลพญา  ครูประจำการ ผู้สอนดนตรีไทย จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา ด้านดนตรีไทย  ระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกดุริยางคศาสตร์ไทย มีพื้นฐานในการสอนดนตรีไทยทั้งวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย วงอังกะลุง และกลองยาว โดยสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก จะเข้ ซอด้วง ซออู้ ขิม และขลุ่ยเพียงออได้

นางสาวปฐมวรรณ  สุขสำราญ  จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี คณะนาฏศิลปและดุริยางค์ สาขาวิชาเอกนาฏศิลป์ไทย สามารถขับร้องเพลงไทยเดิม และเล่นเครื่องประกอบจังหวะได้

นายธรรมนูญ  กรมรินทร์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สาขาดนตรีสากล สามารถเล่นเครื่องดนตรีไทย ขลุ่ยเพียงออ และเครื่องประกอบจังหวะได้

          4.2 ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยากร

                    โรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) ได้เชิญครูภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยากร ช่วยในด้านการจัดการเรียนการสอนด้านดนตรีไทย ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีไทย  คือ นายชัชวาลย์  สาโรจน์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ โรงเรียนวัดไทร ที่อยู่  ๓๘/๑๔๖ ถ.สุขาภิบาล ๕ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220 

  

5. แหล่งที่มาของงบประมาณ

          โรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางโรงเรียน  และจากการบริการด้านการแสดงดนตรีไทยจากหน่วยงานต่างๆที่ให้ความอนุเคราะห์

 

6. ความนิยมของท้องถิ่นทีมีต่อการส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน

          ในสภาพชุมชนของโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) ผู้ปกครองประกอบอาชีพที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ส่งผลให้ผู้ปกครองมีเวลาน้อยในการดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด แต่มีความนิยมส่งเสริมให้บุตรหลานได้ศึกษาหาความรู้ในด้านดนตรีไทยในระดับหนึ่ง ประกอบกับโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์)ได้มีการสนับสนุนและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้การเรียนการสอนดนตรีไทยของโรงเรียนได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากผู้ปกครอง ชุมชน เป็นอย่างดีมาโดยตลอด วงดนตรีไทยโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) ได้บริการและให้ความช่วยเหลือทางด้านดนตรีไทยกับชุมชมและท้องถิ่น โดยการนำนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีไทยแสดงตามงานต่างๆที่ชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆที่จัดขึ้น อย่างสม่ำเสมอ โดยได้รับคำชื่นชมและได้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเสมอมา

 

7. ปัญหาที่แท้จริงในการส่งเสริมการเรียนการสอน

          ในการจัดการเรียนการสอนด้านดนตรีไทยของโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) มีปัญหาด้านการเรียนการสอน คือ

๑.     การดูแลเครื่องดนตรีไทย เนื่องจากเครื่องดนตรี ถูกใช้งานทุกวัน มีการชำรุดทรุดโทรม ครูประจำการมีเพียง ๑ คน ซึ่งทำให้การดูแลไม่ทั่วถึงและไม่ดีพอ

๒.     เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดำเนินทำนองประเภทเครื่องตี ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน เนื่องจากมีนักเรียนสนใจเรียนเกินจำนวนเครื่องดนตรี จึงต้องสลับกันฝึกซ้อม

 

8. ความต้องการได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม

          - งบประมาณสนับสนุนในการซ่อมแซมเครื่องดนตรี

          - งบประมาณสนับสนุนในการซื้อเครื่องดนตรี

          - จัดให้มีเวทีให้นักเรียนนำเสนอผลงาน การแสดงดนตรีไทยให้มากขึ้น

 

9. วิธีการส่งเสริมการเรียนการสอนให้องค์ความรู้ด้านดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านอยู่ในตัวผู้เรียน

- ผู้เรียนตระหนักและเห็นความสำคัญของการเรียนดนตรีไทยและมีเจตคติที่ดีต่อดนตรีไทย

          - จัดครูผู้สอนให้ตรงสาขาและมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นที่ปรึกษา

          - จัดโอกาสให้นักเรียนแสดงผลงานและสามารถสร้างงานและรายได้ให้กับนักเรียน

 

10. นโยบายและกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านในสถานศึกษาให้สมบูรณ์แบบ

          การจัดการเรียนการสอนดนตรีไทย การแสดงดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน ของโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของชุมชน สังคม และหน่วยงานต่างๆ  ซึ่งได้รับความชื่นชม และได้รับรางวัลจากการประกวด แข่งขันต่างๆมากมาย โดยมีกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านดังนี้ 

          ๑. สถานศึกษาให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนดนตรีไทย มีการวางแผนงาน โครงการ และงบประมาณสนับสนุน อย่างต่อเนื่อง

          ๒. จัดหลักสูตรและการเรียนการสอนดนตรีไทยให้มีความหลากหลาย  เพื่อให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ

          ๓. พัฒนาทักษะดนตรีให้กับนักเรียนตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

          ๔. ส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถในการประกวดแข่งขัน และแสดงความสามารถด้านดนตรีไทยอย่างสม่ำเสมอ

          ๕. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีไทยเพื่อการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยม และในระดับที่สูงขึ้น

          ๖. จัดการเรียนการสอนเพิ่มเติม  และพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีไทยเพื่อการประกวด แข่งขัน และแสดงตามที่สาธารณะชน ในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ และตามโอกาสที่เหมาะสม

          ๗. ครูผู้สอนและฝึกซ้อมดนตรีไทย ต้องเป็นผู้ที่มีวินัย มีความเสียสละ มีความเมตตา มีความรับผิดชอบ เป็นแบบอย่างที่ดีที่ดีให้กับเรียน สอนด้วยความรักและความเข้าใจ มีการกำหนดระเบียบ ข้อตกลงให้กับนักเรียนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ  



ผลจากการปฏิบัติ

การเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านของโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) นั้น ได้มีการจัดการเรียนการสอนมากว่า ๒๐ ปี จากอดีตมาสู่รุ่นปัจจุบัน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน ทั้งในด้านของการแสดงดนตรีไทยตามสถานที่ต่างๆทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน อีกทั้งยังมีผลงานการประกวด แข่งขัน ทางด้านดนตรีไทยได้รับรางวัล ทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด และในระดับประเทศ  การเรียนการสอนดนตรีไทยของโรงเรียนได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆมาโดยตลอด อีกทั้ง ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู และบุคลากร ของโรงเรียน ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน อนุรักษ์ ดนตรีไทย มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) ประสบความสำเร็จทางด้านการเรียนการสอนดนตรีไทย

          จากการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๑ จนได้รับคัดเลือกนั้น ทำให้ทางสถานศึกษาเล็งเห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของดนตรีไทยมากขึ้น ซึ่งจากการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้องค์กรมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกัน นักเรียนมีความเป็นระเบียบ มีวินัยในการฝึกซ้อม รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมดนตรีไทย รู้จักหวงแหน และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมดนตรีไทยมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนที่สุด

          แนวโน้มในการส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านของโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) จัดให้มีการเรียนการสอนดนตรีไทยอย่างต่อเนื่องและในทุกระดับชั้น โดยให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ทุกคน สามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีไทยได้อย่างน้อยคนละ ๑ ชิ้น โดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีไทย ทางโรงเรียนใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช ๒๕๕๑ ( ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐ ) โดยนำมาศึกษาวิเคราะห์และจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาในส่วนของ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระที่ 2 ดนตรี และจะใช้แนวทางการสอนดนตรีไทยตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยของทบวงมหาวิทยาลัยและกรมศิลปากร จัดพิมพ์โดยสำนักมาตรฐานอุดมศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2545 มาใช้สอนในห้องเรียน มีการศึกษาปัญหาสภาพของโรงเรียนความต้องการของชุมชน จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค มาใช้ในการทำหลักสูตร จึงได้หลักสูตรที่สอดคล้องกับชุมชนมีการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ กำหนดโครงสร้างให้เรียนสาระที่ 2 ดนตรี 1 ชั่วโมง/สัปดาห์/ภาคเรียน จัดให้มีการเรียนรู้ทักษะทางดนตรี  ด้านการเขย่าอังกะลุง การเป่าขลุ่ยเพียงพอ การตีกลองยาว และเครื่องดำเนินทำนองอื่นๆ โดยในปีการศึกษา 256๒ การส่งเสริมการเรียนการสอนด้านดนตรีไทยของโรงเรียนบ้านคลองบัว(เอี่ยมแสงโรจน์) มีแนวทางส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยจนประสบความสำเร็จ ดังนี้

1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓  สามารถขับร้องเพลงไทยเดิม และเล่นเครื่องดนตรีไทยประกอบจังหวะได้ทุกคน และส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนที่มีความสนใจเป็นพิเศษให้เรียนเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดำเนินทำนองชนิดอื่นๆเพิ่มเติม

2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สามารถเป่าขลุ่ยเพียงออได้ทุกคน โดยเพิ่มทักษะการเป่าให้ไพเราะ มีการสอดแทรกเทคนิคต่างๆ และสามารถเป่าเพลงได้หลากหลายขึ้น และส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนที่มีความสนใจเป็นพิเศษให้เรียนเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดำเนินทำนองชนิดอื่นๆเพิ่มเติม

3. นำนักเรียนมาบรรเลงดนตรีไทยร่วมกันทั้งโรงเรียน โดยจัดให้มีการแสดงสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยและสานต่อโครงการโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อเพิ่มทักษะทางด้านดนตรีไทยของนักเรียน

          4. บุคลากร ในโรงเรียนสามารถเล่นดนตรีไทยได้

          5. เชิญภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยากร ที่มีความสามารถเฉพาะด้านมาให้ความรู้กับครูและนักเรียนด้านดนตรีไทยและเป็นที่ปรึกษาการจัดกิจกรรมด้านดนตรีไทยอย่างต่อเนื่อง

          ๖. นักเรียนได้แสดงออกทางด้านดนตรีไทยโดยนำนักเรียนออกแสดงนอกสถานที่ เข้าประกวด แข่งขัน ตามหน่วยงานต่างๆที่จัดขึ้น

          ๗. มีโครงการพี่สอนน้อง ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้และสามารถถ่ายทอดความสามารถทางด้านดนตรีไทยได้อย่างถูกต้อง 


เอกสารเพิ่มเติม :[ดาวน์โหลดเอกสาร]