สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
การจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้วิธีการสอน ๔ ขั้นตอนเพื่อการอ่านออกเขียนได้
โรงเรียนวัดปากน้ำฝั่งเหนือ
กระบวนการพัฒนา

ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โดยใช้วิธีการเรียนรู้ ๔ ขั้นตอนง่าย ๆ สไตล์ครูยุวดี ดังนี้

๑. บทนำเพลินใจ เป็นขั้นแรกของกิจกรรม ใช้การกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน โดยใช้กลวิธีดังนี้

           ขั้นนำเข้าสู่บทเรียนเป็นการปลุกเร้าความสนใจ จะต้องทำให้นักเรียนประทับใจ สนุก และอยากเรียนรู้ ข้าพเจ้าจะใช้วิธีที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าซ้ำซาก และเบื่อหน่าย เช่น  Brain  Gym   เกม  เพลง  นิทาน ปริศนาคำทาย การใช้คำถาม และ ข่าวเหตุการณ์ เป็นต้น โดยเปิดโอหาสให้นักเรียนฝึกกระบวนการคิด  สังเกต  จดจำ ซึ่งการฝึกเป็นประจำสม่ำเสมอจะทำให้เกิดทักษะอันจะส่งผลให้คิดเป็น  แก้ปัญหาได้  ตัดสินใจกระทำการบนพื้นฐานของเหตุผล ได้อย่างชาญฉลาดในอนาคต

           ๒. ความรู้ใหม่น่าศึกษา

           การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใด ๆ ก็ตาม หากสามารถสร้างความตระหนักในความสำคัญของเรื่องที่จะเรียนได้ จะส่งผลให้นักเรียนกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติกิจกรรมด้วยความเต็มใจ เพราะเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ กิจกรรมสำคัญในขั้นนี้ มีดังนี้

           ฝึกคิดอย่างรอบคอบ  การสังเกตและคิดอย่างหลากหลายเกี่ยวกับเรื่องราวหรือเนื้อหาที่รับรู้ จะช่วยให้นักเรียนมองเห็นความสำคัญของสิ่งนั้นได้ เช่น ฝึกคิดขั้นสูง (วิเคราะห์ ประเมินค่า และคิดสร้างสรรค์) โดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ  

           ถามตอบอย่างชาญฉลาด การใช้คำถามอย่างหลากหลายกระตุ้น ยั่วยุ  เพื่อให้นักเรียนฝึกคิดและตอบในสิ่งที่ตนเองคิด จะทำให้ครูรู้เท่าทันความคิดของนักเรียน ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักเรียนอีกทั้งยังเป็นการฝึกทักษะการคิดให้กับนักเรียน  ไปพร้อม ๆ กัน

           ใช้สื่อหลากหลาย ออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักให้นักเรียนเห็นคุณค่าของเรื่องที่จะเรียน โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active  Learning) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สื่ออย่างหลากหลาย เพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสกับแหล่งเรียนรู้หลาย ๆ ประเภท อันจะเป็นข้อมูลให้นักเรียนตัดสินใจเลือกปฏิบัติได้อย่างมั่นใจ เช่น เกม เพลง นิทาน แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ห้องสมุด สอบถามผู้รู้ เป็นต้น ทั้งนี้ครูต้องเป็นผู้ออกแบบ และจัดการเรียนรู้ รวมทั้งกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด คอยใช้คำถามกระตุ้นชี้นำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการใช้สื่อเหล่านั้น นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง

           ทั้งนี้ทุกกิจกรรมเรียนรู้จากรูปธรรมไปหานามธรรม และพัฒนา EF ไปพร้อม ๆ กันด้วย

           ๓. พัฒนาองค์ความรู้สำหรับตน

           ขั้นนี้เป็นการฝึกทักษะให้นักเรียน อ่าน  เขียน  ทั้งนี้ทั้งสองทักษะต้องพัฒนาควบคู่กันไป การอ่านเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่นักเรียนจะต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทั้งการอ่านในใจและการอ่านออกเสียง เพื่อเสริมสร้างความสุขในการอ่าน ข้าพเจ้าจึงสร้างวรรณกรรม ซึ่งเป็นนิทานชุดสระเดี่ยวพาเพลิน จำนวน ๑๘ เล่ม ควบคู่กันไป ประจำหน่วย  เนื้อหาในนิทานสนุกสนาน สอดแทรกคุณธรรม และมีภาพประกอบสวยงาม  จากนั้นสร้างแบบฝึกการเขียนให้สอดคล้องกับเรื่องที่อ่าน ซึ่งทำให้นักเรียน เรียนรู้อย่างสนุกสนานและบูรณาการ  รวมทั้งใช้สื่อ นวัตกรรมอื่น ๆ อย่างหลากหลายทั้งที่ครูเป็นผู้ผลิต และนักเรียนผลิตขึ้นเอง

            ๔. ประเมินผลหลากหลาย

           ดำเนินการในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนา มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

           กำหนดวิธีการวัดประเมินผล เครื่องมือที่ใช้วัด และเกณฑ์การวัดไว้อย่างชัดเจน ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนการสอน มีความครอบคลุมทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ

           ใช้วิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การประเมินตามสภาพจริง การประเมินโดยใช้แฟ้มพัฒนางาน การประเมินตนเอง เพื่อนประเมินเพื่อน ครูและผู้ปกครองร่วมกันประเมิน

           วิธีการ เก็บรวบรวมข้อมูล ได้ใช้วิธีการสังเกต การตรวจผลงาน การทดสอบความรู้ การตรวจสอบการปฏิบัติ การแสดงผลงาน ส่วนในการประเมินความสามารถหรือทักษะทางภาษาจะใช้การประเมินแบบ  Rubrics เพื่อมุ่งเน้นให้มีผลการประเมินตรงกับความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน เมื่อทำการวัดและประเมินผลแล้วได้นำผลการประเมินมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาผู้เรียนโดยทำการซ่อมเสริมให้กับนักเรียนที่มีปัญหา หรือส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง

 

 

 


ผลจากการปฏิบัติ

จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีการสอน ๔ ขั้นตอนง่าย ๆ สไตล์ครูยุวดี และจากการสังเกตพบว่านักเรียนมีความสุขในการเรียน ตั้งใจเรียน สรุปองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง พร้อมจะเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านการเขียนดีขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายของสถานศึกษา