สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
กิจกรรมการประดิษฐ์และเชิดหุ่นมือสู่ความเป็นเลิศ
โรงเรียนวัดนาคนิมิตร
กระบวนการพัฒนา

       ๑. การจัดการเรียนรู้ในการจัดประดิษฐ์หุ่นมือในแต่ละระดับชั้น มีกำหนดการสอน ดังนี้

          ๑.๑ ระดับปฐมวัย

       ๑.๑.๑ ครูจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในช่วงกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ของแต่ละวัน เพื่อให้เด็กสามารถประดิษฐ์หุ่นมือด้วยตนเอง ตามกำหนดการสอน คือ

                           ชั้นปฐมวัยปีที่ 1   เรื่อง   การระบายสีหุ่นมือ

                           ชั้นปฐมวัยปีที่ 2   เรื่อง   หุ่นมือเล่านิทาน

               ๑.๑.๒ นำหุ่นมือที่ประดิษฐ์ด้วยตนเอง มาแสดงเล่านิทานในช่วงกิจกรรมเสริมประสบการณ์เพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการ และความเพลิดเพลิน

 

          ๑.๒ ระดับประถมศึกษา

                ๑.๒.๑ ครูจัดการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนสร้างสรรค์ผลงานการประดิษฐ์หุ่นมือ จากวัสดุต่างๆ  ในการเรียนชั่วโมงชมรมของแต่ละระดับชั้น ตามกำหนดการสอน คือ

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑     เรื่อง     หุ่นนิ้ว

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒     เรื่อง     หุ่นไม้ไอศกรีม

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓     เรื่อง     หุ่นมือถุงกาแฟ

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔     เรื่อง     หุ่นมือถุงกาแฟ

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕     เรื่อง     หุ่นมือมือปากขยับ

                             ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖     เรื่อง     หุ่นมือโดยใช้เทคนิคเปเปอร์มาเช่

๑.๒.๒ เมื่อนักเรียนสามารถประดิษฐ์หุ่นมือเป็นผลงานของตนเองได้แล้ว ครูจัดการเรียนการสอน             การเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นมือ ในชั่วโมงภาษาไทย ตามแผนการจัดการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำ และดำเนินกิจกรรมตามลำดับ ดังนี้

เรียนรู้หลักการเล่านิทาน  ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าจากหนังสือในห้องสมุด และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น วีดิทัศน์ สื่อออนไลน์

เขียนบทนิทานก่อนเล่า  แบ่งกลุ่มนักเรียนเขียนบทนิทานที่มีคติสอนใจ กลุ่มละ ๑ เรื่อง ครูเป็นผู้ช่วยแนะนำในเรื่องการใช้ภาษาสำนวนให้ถูกต้อง

กำหนดหน้าที่รับผิดชอบในการแสดง นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันกำหนดบทบาทว่าใคร จะเป็นผู้เล่า และใครจะเป็นผู้เชิดหุ่นตามความเหมาะสม

ฝึกการเชิดหุ่นมือ  ครูเป็นผู้ฝึกสอนการเชิดหุ่นมือพื้นฐานให้กับนักเรียนตามความเหมาะสมของวัยนักเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้จักการควบคุมนิ้วมือ   โดยฝึกให้นักเรียนใช้แขน และมือ สอดเข้าไปในถุง ซึ่งเป็นลำตัวหุ่น และใช้นิ้วชี้สอดให้ตรงกับรูที่เชื่อมระหว่างลำตัวกับศีรษะหุ่น  เพื่อบังคับส่วนศีรษะของหุ่น นิ้วโป้งและนิ้วกลางใช้บังคับมือและแขนทั้ง ๒ ข้างของหุ่น

     แสดงผลของการฝึก  นักเรียนแต่ละกลุ่มแสดงนิทานจากหุ่นมือของกลุ่มตนเอง หลังแสดงจบ ครูให้ข้อเสนอแนะและมอบหมายให้นักเรียนที่แสดงได้ดี จัดแสดงช่วงกิจกรรมหน้าเสาธง หรือตอนพักกลางวัน

                ๑.๒.๓  จัดกิจกรรมประกวดการเชิดหุ่นมือในแต่ละระดับชั้นเพื่อเฟ้นหานักเรียนที่มีความสามารถในการเล่านิทาน และการเชิดหุ่นมือ เพื่อเป็นทีมการเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นของโรงเรียน และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ

                ๑.๒.๔. หลังจากที่ครูคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถในด้านต่างๆ แล้ว ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเชิดหุ่น เช่น ครูบรรณารักษ์ ครูดนตรีไทย ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และครูที่เกี่ยวข้อง จะฝึกซ้อมนักเรียนโดยฝึกซ้อมในตอนเย็นหลังเลิกเรียนในเวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๓๐ น. โดยฝึกการเล่านิทาน ฝึกเชิดหุ่นมือตามอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งครูจะฝึกซ้อมทั้งผู้เล่าและผู้เชิด นักเรียนทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแสดงเชิดหุ่นต้องสามารถจำบทของตนเองได้ เชิดหุ่นให้ตรงกับคำพูด ท่าทาง รักษาระดับการเชิดให้คงที่

                 ๑.๒.๕. นักเรียนทำการฝึกซ้อมหลาย ๆ ครั้งจนได้การแสดงที่สมบูรณ์และสมจริงที่สุดเมื่อนักเรียนซ้อมเชิดหุ่นจนเกิดทักษะได้ในระดับหนึ่งแล้ว จะให้นักเรียนฝึกซ้อมการแสดงเชิดหุ่นมือควบคู่กับดนตรีไทย ในการกำกับจังหวะของการแสดงซึ่งครูดนตรีไทยจะฝึกซ้อมนักเรียนให้สามารถเล่นได้เข้ากับจังหวะการเชิดหุ่น ผู้ชมจะได้อรรถรสทั้งจากการแสดงเชิดหุ่นที่เข้าถึงอารมณ์ และเสียงประกอบจากดนตรีไทยที่ใช้ การแสดงดนตรีสด นักเรียนทุกคนจะต้องฝึกให้มีความชำนาญจนเกิดการแสดงที่เป็นหนึ่งเดียว ทั้งผู้อ่านบท ผู้เชิด และนักดนตรี

                 ๑.๒.๖  ส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนเพื่อเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการประกวดแข่งขันการเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศและสร้างประสบการณ์ การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนักเรียน


ผลจากการปฏิบัติ

ผลสำเร็จ

          ๑. นักเรียนมีทักษะการพัฒนาทักษะการใช้ภาษา และภูมิใจในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง

          ๒. นักเรียนมีความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าแสดงต่อที่ชุมชน

          ๓. ผลงานนักเรียนได้รับรางวัลจากกิจกรรมการเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นมือของหน่วยงานของรัฐ และเอกชน  ดังนี้

วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ รับรางวัลชนะเลิศประเภทสวยงาม การแข่งขันประดิษฐ์และการแสดงหุ่นมือ รับถ้วยประทานจากพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ จัดโดยสภาวัฒนธรรมเขตจอมทอง

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดแข่งขันแสดงหุ่น “สุดยอดการถ่ายทอดค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ” จัดโดยสภาวัฒนธรรมเขตจอมทอง ร่วมกับสำนักงานเขตจอมทอง รับถ้วยรางวัลจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ การประกวดแข่งขันแสดงหุ่นตามพระบรมราโชวาท “๙ คำสอนของพ่อ” จัดโดยสภาวัฒนธรรมเขตจอมทอง รับถ้วยรางวัล จาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ รางวัลชนะเลิศ “การประกวดหนูน้อยนพมาศจิตอาสา” จากวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรส และกรุงเทพมหานคร ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท

นอกจากนี้ยังได้จัดการแสดงในงานที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน วัด และชุมชน ทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่ได้สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน และเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์อันทรงคุณค่าให้กับนักเรียน

 

ผลการได้รับการยอมรับ

ผลจากการพัฒนากิจกรรมการประดิษฐ์และเชิดหุ่นมือ จนมีผลงานเชิงประจักษ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่ยอมรับและเป็นประโยชน์ควรค่าแก่การเผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้อื่นซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษา จึงได้ประชาสัมพันธ์การประดิษฐ์และการเชิดหุ่นมือฝีมือนักเรียน  โดยการถ่ายทอดรายการ ช่อง ๙ ร่วมใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน ช่วง “อย่างนี้ต้องยกนิ้วให้” ในปี ๒๕๕๒ และได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ หน้า ๒๔ คอลัมน์ “สุดยอดหุ่นมือฝีมือเยาวชน”