สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
การสอนโดยใช้โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย(โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย)
โรงเรียนวัดกัลยาณมิตร
กระบวนการพัฒนา

การจัดกระบวนการเรียนรู้

๑. การเตรียมการจัดกระบวนการเรียนรู้

          ๑.๑ ศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตรทำกำหนดการสอนเพื่อจัดทำแผนการจัดประสบการณ์

          ๑.๒ จัดทำแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยแทรกความรู้การจัดทำโครงงาน พูดชักนำเกี่ยวเนื่องถึงกิจกรรมโครงงานตามลำดับ คือ

- กระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญของโครงงาน

- เด็กศึกษาตัวอย่างการจัดทำโครงงาน

- ให้ความรู้เรื่องโครงงานแก่เด็ก

๒. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยใช้กระบวนการสืบเสาะ (5E) เป็น 3 ระยะ ดังนี้

 ระยะที่ ๑ เริ่มต้นโครงงาน

๑. สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับเด็ก จากเรื่องต่อไปนี้

  • เรื่องที่เรียนรู้ปกติในบทเรียน
  • จากการบอกเล่าของผู้ใหญ่ หรือผู้รู้
  • จากประสบการณ์ของเด็กและผู้สอน
  • จากเอกสารสิ่งพิมพ์หรือสิ่งต่างๆ
  • จากความคิดที่เกิดขึ้น
  • จากตัวอย่างโครงงานที่ผู้อื่นทำไว้แล้ว

๒. กำหนดหัวข้อโครงงาน

  • นำเรื่องที่ผู้เรียนสนใจมาอภิปรายร่วมกัน
  • กำหนดเรื่องนั้นเป็นหัวข้อโครงงาน

๓. เขียนเค้าโครงย่อของโครงงาน

ระยะที่ ๒ ขั้นพัฒนาโครงงาน

          เป็นขั้นที่เด็กกำหนดหัวข้อคำถาม หรือประเด็นปัญหาที่เด็กอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจที่ร่วมกันกำหนดเป็นหัวข้อเรื่อง แล้วตั้งสมมุติฐานมาตอบคำถามเหล่านั้น ทดสอบสมมุติฐานด้วยการลงมือปฏิบัติ จนค้นพบคำตอบด้วยตนเอง ตามขั้นตอนดังนี้

  • เด็กกำหนดปัญหาที่จะศึกษา
  • เด็กตั้งสมมุติฐานเบื้องต้น
  • เด็กตรวจสอบสมมุติฐานเบื้องต้น
  • สรุปข้อความรู้จากผลการตรวจสอบสมมุติฐาน

กรณีที่ผลการตรวจสอบเป็นไปตามสมมุติฐาน ให้เด็กสรุปองค์ความรู้จากการค้นพบด้วยการลงมือปฏิบัติด้วย

 กรณีที่ผลการตรวจสอบไม่เป็นไปตามสมมุติฐาน ผู้สอนให้กำลังใจเด็กในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ตำหนิหรือกล่าวโทษ  กระตุ้นให้เด็กมีกำลังใจและสามารถตั้งสมมติฐานใหม่ได้

  • เมื่อได้องค์ความรู้ใหม่แล้ว เด็กจะนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการทำกิจกรรมตามความสนใจต่อไปได้
  • เด็กอาจใช้ความรู้ที่ค้นพบเป็นพื้นฐานของการกำหนดประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ เพื่อกำหนดเป็นโครงงานย่อย ศึกษารายละเอียดในเรื่องนั้นๆต่อไปอีก

ระยะที่ ๓ ขั้นรวบรวมสรุป

                เป็นระยะสุดท้ายของโครงงานทีเด็กค้นพบคำตอบของปัญหาแล้ว และเด็กได้แสดงให้ผู้สอนเห็นว่าได้สิ้นสุดความสนใจในหัวข้อโครงงานเดิม และเริ่มหันเหความสนใจออกไปสู่เรื่องใหม่  ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้สอนและเด็ก จะได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานและแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการทำงานตลอดโครงงานแก่คนอื่นๆ มีกิจกรรมที่ดำเนินการในขั้นตอน ดังนี้

  • ให้เด็กบันทึกการศึกษาค้นคว้า
  • นำเสนอเป็นนิทรรศการ( แสดงเป็นแผงโครงงาน ) ให้ผู้อื่นรู้
  • สรุปนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 


ผลจากการปฏิบัติ

นักเรียนระดับชั้นอนุบาลได้เรียนรู้และมีประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์

นักเรียนระดับชั้นอนุบาลได้ฝึกการสังเกต รู้จักคิด ตั้งคำถามและหาคำตอบด้วย ตนเอง

ครูได้พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้เทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับระดับชั้นอนุบาล