นวัตกรรม “3M PLUS สร้างเด็กดีมีคุณธรรมอย่างยั่งยืน” เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะพฤติกรรมที่ดีงาม และพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่หลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยใช้คุณธรรมพื้นฐานโตไปไม่โกงของกรุงเทพมหานครเป็นคุณธรรมหลัก
ในการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ความดี ความงามให้กับนักเรียน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และออกแบบกิจกรรมโดยยึดนักเรียนเป็นสำคัญ การจัดการเรียนรู้ให้โอกาสนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) แก้ปัญหา หรือศึกษา ค้นคว้า สามารถสร้างองค์ความรู้ตามสิ่งที่ชอบและสนใจ
โดยอาศัยกิจกรรมส่งเสริมความดีเป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้ ตลอดจนจัดกิจกรรมเรียนรู้อย่างเป็นระบบเป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาการเรียนรู้ได้จากประสบการณ์จริง คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น สร้างพลังทางสติปัญญาให้กับนักเรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความเจริญงอกงามทั้งทางจิตใจ ร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม ด้วยหลักการพื้นฐาน “เรียนความรู้ หัดทำการงาน ทำความดี”
นวัตกรรม “3M PLUS สร้างเด็กดีมีคุณธรรมอย่างยั่งยืน” มีกระบวนรูปแบบการขับเคลื่อน ดังนี้
M1 รูปแบบกระบวนการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์นักเรียน Moral Identity ผู้บริหาร คณะครูและบุคลากร ร่วมกันคิดค้นและกำหนดอัตลักษณ์ของโรงเรียนและออกแบบกระบวนการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์นักเรียน ภายใต้บริบทคุณธรรมอัตลักษณ์ คือ พอเพียง ในระยะนี้ได้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันวางแผน จนได้รูปแบบการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์ผู้เรียน โดยใช้ M1 คือ Moral Identity “2S CARE” ทำให้ผู้เรียนได้มีโครงงานคุณธรรมที่นักเรียนคิด นักเรียนทำ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ค้นหาความรู้และฝึกทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 โดยมีสมุดบันทึกความดีเป็นเครื่องมือกำกับการทำกิจกรรมส่งเสริมความดีที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน และรูปแบบกระบวนการ “2S CARE” นี้ยังได้เผยแพร่ไปยังหลายโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครโดยครูวิทยากรของโรงเรียน
M 2 รูปแบบการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม Main Moral Model ผลจากรูปแบบกระบวนการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์นักเรียน (M1) ที่นักเรียนได้ทำโครงงานคุณธรรมและกิจกรรมส่งเสริมความดี สถานศึกษาได้เกิดองค์ความรู้ ที่เรียกว่า รูปแบบการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม “Main Moral Model” มาใช้ในการขับเคลื่อน
เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้บริหาร ครู บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง ศึกษานิเทศก์ คณะกรรมสถานศึกษาและชุมชน ทำให้กลไกการขับเคลื่อนทั้งระบบเกิดความสอดคล้องในการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน ภายใต้กระบวนการจัดการตามคุณธรรมเป้าหมายและรูปแบบการขับเคลื่อน จนเกิดเป็นองค์ความรู้ ที่เป็นวิถีชีวิต ที่เรียกว่า “หนึ่งวันที่ราชบพิธ กับวิถีชีวิตที่พอเพียง” จากกิจกรรมส่งเสริมความดีที่นักเรียนได้ลงมือกระทำ และบันทึกลงในสมุดบันทึกความดี ทำให้สามารถเห็นพฤติกรรมเชิงบวกของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชัดเจน
M 3 ห้องเรียนอริยะ M.Q. Classroom (Moral Quotient Class room) การหลอมรวม “กระบวนการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียน Moral Identity และ รูปแบบการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม (Main Moral Model) มาใช้เป็นต้นทุนในการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมสู่ความสมดุล ทำให้เกิด กระบวนการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียนและพฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวกของนักเรียนเป็นองค์ความรู้ 9 ฐาน ที่เรียกว่า
“ห้องเรียนอริยะ (Moral Quotient Classroom)” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใช้บ่มเพาะคุณธรรมอย่างต่อเนื่องซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาพฤติกรรมของผู้เรียนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่คุณลักษณ์อันพึงประสงค์อย่างสมดุลและยั่งยืนอย่างแท้จริง