สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบไฮสโคป (High Scope) ระดับชั้นอนุบาล
โรงเรียนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม
กระบวนการพัฒนา

            หลักการที่สำคัญของไฮสโคประดับปฐมวัย คือการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเด็ก การเรียนรู้แบบลงมือกระทำจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในกิจกรรมที่พัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ หมายถึง การเรียนรู้ซึ่งเด็กได้จัดกระทำกับวัตถุ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล ความคิด และเหตุการณ์ จนกระทั่งสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ ได้แก่

             1. สื่อ (Materials) ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทำจะมีเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลายเพียงพอและเหมาะสมกับระดับอายุของเด็ก เด็กต้องมีโอกาสและมีเวลาเพียงพอที่จะเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างอิสระ เมื่อเด็กใช้เครื่องมือ หรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เด็กจะมีโอกาสเชื่อมโยงการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ และมีโอกาสในการแก้ปัญหามากขึ้นด้วย

             2. การสัมผัส (Manipulation) การเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้งกายและใจ การให้เด็กได้สำรวจและจัดกระทำกับวัตถุโดยตรงทำให้เด็กรู้จักวัตถุ หลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับวัตถุแล้วเด็กจะนำวัตถุต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องกันและเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ ผู้ใหญ่มีหน้าที่จัดให้เด็กค้นพบความสัมพันธ์เหล่านี้ด้วยตนเอง

             3. การเลือก (Choice) เด็กจะเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมจากความสนใจและความตั้งใจของตนเอง เด็กเป็นผู้เลือกวัสดุอุปกรณ์และตัดสินใจว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์นั้นอย่างไร การที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่ ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการเลือกและการตัดสินใจ ต้องจัดให้เด็กมีอิสระที่จะเลือกได้ตลอดทั้งวัน ขณะที่ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะในช่วงเวลาเล่นเสรีเท่านั้น

             4. ภาษาและการคิด (Child language & thought) เด็กได้อธิบายว่าตนกำลังทำอะไร และเข้าใจอย่างไรมีโอกาสพูดสื่อสารและด้วยภาษาท่าทางขณะคิดเกี่ยวกับการกระทำ และขยายความคิดของตนเพื่อรับรู้สิ่งใหม่

             5. การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ (Adult scaffolding) หมายถึงการที่ผู้ใหญ่สนับสนุนการคิด และท้าทายกระตุ้นให้เด็กพยายาม และช่วยเด็กขยายหรือสร้างงานของตนโดยการพูดกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กกำลังทำร่วมกันในการเล่น และช่วยให้เด็กเรียนรู้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น


ไฮสโคป (High Scope) ใช้หลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ

         1. การวางแผน (Plan) เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติ หรือการดำเนินงานตามงานที่ได้รับมอบหมายหรือสิ่งที่สนใจด้วยการสนทนาร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก และเด็กกับเด็ก ว่าจะทำอะไร อย่างไร การวางแผนกิจกรรมนี้เด็กอาจแสดงด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กหรือบอกให้ครูบันทึก เป็นกระบวนการที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ

         2. การปฏิบัติ (Do) คือ การลงมือทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้ เป็นส่วนที่เด็กได้ร่วมกันคิด แก้ปัญหา ตัดสินใจ และทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกับเพื่อนอย่างอิสระตามเวลาที่กำหนดโดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในจังหวะที่เหมาะสม เป็นส่วนที่เด็กได้มีการพัฒนาการพูดและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง 

        3. การทบทวน (Review) เด็ก ๆ จะเล่าถึงผลงานที่ตนเองได้ลงมือทำเพื่อทบทวนว่าตนเองนั้นได้ปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การทบทวนจุดประสงค์ที่แท้จริงคือ ต้องการให้เด็กได้เชื่อมโยงแผนการปฏิบัติงานกับผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง


ผลจากการปฏิบัติ

การเรียนแบบ ไฮสโคป (High Scope) ถือเป็นแนวการเรียนการสอนที่น่าสนใจเพราะเน้นในการพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างแท้จริง และการที่เด็กได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ย่อมสร้างความภาคภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ และฝึกให้พวกเขาเป็นคนกล้าคิดกล้า มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานอย่างมีระบบ ขั้นตอน และเรียนรู้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งะโยชน์ของแนวการสอนไฮสโคป (High Scope) ที่มีต่อเด็ก

1. สอนให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น ซึ่งเริ่มต้นจากความไว้วางใจโยครูต้องเป็นผู้สร้างความไว้วางใจให้แก่เด็กเพื่อให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมหรือชิ้นงานตามความสนใจของตนเองและมีความสนุกในการเรียนรู้ที่จะทำงาน

 2. การลงมือทำงานฝึกให้เด็กวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ 

3. เด็กได้ฝึกสมาธิทำให้เด็กเกิดปัญญา ฝึกความมีระเบียบวินัย ฝึกการคิดอย่างมีความหมาย ผลที่ตามมาคือ ความสำเร็จในการทำงานที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ได้เรียนรู้และมีความสุขในการทำงานที่ตนสนใจ


เอกสารเพิ่มเติม :[ดาวน์โหลดเอกสาร]