สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนด้วยกระบวนการ PLC
โรงเรียนกลางคลองสอง(พร ดีเจริญ)
กระบวนการพัฒนา

?1. ประชุมวางแผนการดำเนินงานตามโครงการ

2. ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครูและบุคลากรเกี่ยวกับการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพผ่านการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) ด้วยรูปแบบการสอบแบบ Active Learning โดยมีการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้แบบ 5 STEPS ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้น Plan Do See โดยมีผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้เชี่ยวชาญเป็นวิทยากรให้ความรู้ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน เรียกสั้น ๆ คือ Collaborative 5 STEPs    เป็นแนวการสอนหนึ่งของการเรียนรู้เชิงรุก ( Active Learning ) เน้นให้รู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตัวเองรวมทั้งประยุกต์ความรู้ได้บนฐานวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนมีการปฏิบัติกิจกรรมแบบทำงานกลุ่มรวมพลัง โดยทุกคนร่วมด้วยช่วยกันเด็กเก่งช่วยเด็กเรียนช้ากว่า เด็กถนัดกว่าช่วยเด็กถนัดน้อยเพื่อให้มีความสุขในการเรียน บทบาทของผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ (Learner) ส่วนบทบาทของครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) โดยมีลักษณะเด่น หรือลักษณะเฉพาะดังนี้ คือ

1) เป็นแนวการสอนอยู่บนฐานวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง

2) หลังการสร้างความรู้แล้ว ครูต้องมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนนำความรู้แล้วครูต้องมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนนำความรู้ไป หรือประยุกต์ความรู้ได้ผลงาน/ภาระงานไปตอนแทนสังคม

3) เป็นการจัดการเรียนรู้เน้นการทำงานกลุ่มแบบรวมพลัง เด็กร่วมมือช่วยเหลือกันและกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันความเสมอภาคกัน 

          4) วิธีสอนสำคัญที่ใช้ใน Collaborative 5 STEPs คือ (1) วิธีสอนแบบสืบสอบ (2) วิธีสอนแบบโครงงาน (3) วิธีสอนต่าง ๆ ที่ในการเรียนรู้ที่ใช้กิจกรรมเป็นฐาน เช่น เกม กรณีตัวอย่าง บทบาทสมมติ สถานการณ์จำลอง ใช้ประเด็นทางสังคม เป็นต้น

5) เทคนิคสำคัญที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้แนวนี้ คือ (1) เทคนิคพัฒนาการคิด เช่น การใช้คำถามการใช้ผังกราฟิก การใช้ใบกิจกรรมการใช้พหุปัญญา เป็นต้น (2) การใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือ                                  (Co-operative Learning) โดยเฉพาะ Think-pair-share, Team-pair-solo, Pair-Discussion,Peer to Peer,Peertutoring,Peer assessment, round robin, Rally table เป็นต้น

          แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบรวมพลังกลุ่มที่มาร่วมตัวกันอาจ 2 คน หรือ 4 คนต่อ 1 กลุ่ม ที่มีการคละเพศ คละความสามารถ ความสนใจและคละความสามารถ (เก่ง กลาง อ่อน) ทำงานร่วมมือกันแบบคนเก่งช่วยสอนคนที่อ่อน หรือเรียนรู้ช้า คนที่มีความสามารถปานกลางก็ร่วมด้วยช่วยกันจนงานสำเร็จและทุกคนบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ถ้าเป็นการเรียนรู้ก็พบว่าเด็กอ่อนมีผลการเรียนรู้สูงขึ้น เด็กปานกลางก็มีการพัฒนาสูงขึ้นเช่นกัน อันเป็นการแสดงความร่วมใจร่วมพลังในการเรียนรู้ร่วมดันเพื่อให้เด็ก ๆ มีความเท่าเทียมกัน บรรลุตามมาตรฐานที่กำหนดจงใช้หลักให้เด็กช่วยเหลือกันและกัน “คนเก่งอาสาเรียนช้าขอร้อง”

ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนมีรายละเอียด ดังนี้

          1. ขั้นเสนอสิ่งเร้าและระบุคำถามอย่างร่วม เป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้เรียนสงสัย (ask) จากสิ่งเร้า สมองเกิดภาวะสมดุล (disequilibrium) มีการทบทวนประสบการณ์เดิมของผู้เรียน ( elicitprior knowledge) คือ การคาดคะเนคำตอบ หรือตั้งสมมติฐาน หรือจินตนาการคำตอบ คำตอบอาจไม่ถูกต้องหรือผิดหรือเป็นมโนทัศน์คลาดเคลื่อนก็เป็นได้ซึ่งครูไม่มีการเฉลยคำตอบ โดยมีเทคนิคการคาดคะเนคำตอบ คือ 1) ให้ตอบคำถามเป็นรายบุคคล 2) ให้ตอบเป็นทีม

          2. ขั้นแสวงหาสารสนเทศและวิเคราะห์อย่างรวมพลัง เป็นขั้นสำคัญเพื่อพิสูจน์สมมติฐานเพื่อหาคำตอบของคำถามสำคัญโดยครูอาจออกแบบให้ หรือครูกับผู้เรียนร่วมกันวางแผน หรือผู้เรียนวางแผนเอง ครูออกแบบการเก็บข้อมูลสารสนเทศให้เอง ด้วยการสร้างสื่อการเรียนรู้ เช่น ใบกิจกรรมใบงาน ใบทดลอง รวมทั้งใบความรู้ และอาจใช้ใบสรุปความรู้แจกให้ผู้เรียน

          3. ขั้นอภิปรายและสร้างความรู้ เป็นขั้นสื่อความหมายข้อมูลหลังจากการวิเคราะห์ข้อมูล  โดยผู้เรียนมีโอกาสเสนอหน้าชั้นเรียน ผู้เรียนมีแปลความหมายข้อมูล เพื่อการสรุปผล/สร้างความรู้ด้วยตัวนักเรียนเอง มีการสะท้อนความคิดกัน และแต่ละกลุ่มปรับแก้ไขความรู้ที่สร้างขึ้นเอง ครูเชื่อมโยงความรู้ที่ผู้เรียนสร้างไปยังความรู้ที่ถูกต้อง และเป็นขั้นที่ครูอาจให้ทำแบบฝึกหัดเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ

          4. ขั้นสื่อสารและสะท้อนคิดอย่างรวมพลัง เป็นชั้นผู้เรียนนำเสนอความรู้และการเรียนรู้ที่ได้จากการสร้างความรู้ด้วยความเข้าใจหน้าชั้น รวมทั้งผลงาน ตลอดจนกระบวนการสร้างความรู้ติดที่ผนัง หรือกระดานหน้าชั้นเรียนด้วยหลัก 3 p วางแผนการพูด( Planning) ซ้อม/เตรียม (Preparation) นำเสนอหน้าชั้นเรียน     ( Presentation) พร้อมฝึกการสร้างบุคลิกภาพภายในและบุคลิกภาพนอกขณะนำเสนออย่างมั่นใจและมีคุณภาพจากนั้นให้มีการสะท้อนคิด ข้อดี ข้อเด่น และสิ่งอยากรู้

          5. ขั้นประยุกต์และตอบแทนสังคม เป็นขั้นที่ผู้เรียนร่วมด้วยช่วยกันแบบรวม พลังประยุกต์ความรู้ หรือนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ เช่น ในชีวิตการเรียนในสาระอื่น ๆ ในครอบครัวในชุมชนทำให้ได้ชิ้นงานใหม่/ภาระงานใหม่ การสร้างชิ้นงานเรียงตามลำดับง่ายไปหายาก ดังนี้  1) รายงาน การบอกเล่า การถ่ายทอดความรู้ (Extension) 2) ผลงานระดับคิดริเริ่ม หรือผลงานนำความรู้ประยุกต์ในสถานการณ์ใหม่ (Invention) และ 3) รายงานโครงงานประเภทต่าง ๆ (Innovation)

          โดยสรุปการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน เป็นแนวการสอนที่ครูสามารถนำวิธีสอนต่าง ๆ เทคนิคการสอนที่เสริมสร้างการคิด เทคนิคการสอนที่เสริมสร้างการทำงานร่วมกัน การช่วยเหลือกันอย่างมีน้ำใจต่อกัน อีกทั้งเทคนิคการคิดเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ได้ผลการเรียนรู้เป็นภาพมาตรฐานการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้

3.  ประชุมครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อวางแผนในการกำหนดทีม PLC ในการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน ในแต่ละทีมประกอบไปด้วยครูผู้สอน (Model Teacher) เพื่อนครู (Buddy Teacher) และผู้อำนวยการสถานศึกษา (Administrator) กำหนดปฏิทินและตารางการทำ Lesson Study 1  ในปีการศึกษา 2564

4.  ดำเนินงานตามแผน โดยทีม PLC ปฏิบัติการ Lesson Study 1  (LS 1) ใน 3 ขั้นตอน ได้แก่

- ขั้น Plan เป็นกระบวนการทำงานแบบร่วมมือรวมพลังของทีม PLC ในการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ และใช้สุนทรียสนทนาในการพูดคุยกันเพื่อให้ได้แผนการจัดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ในการนำไปใช้ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ครูผู้สอน (Model Teacher) ตกผลึกความคิดในการที่จะนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้อย่างมั่นใจ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยมุ่งเป้าหมายที่การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

- ขั้น Do เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอน (Model Teacher) นำแผนการจัดการเรียนรู้แบบ 5 STEPS ไปใช้จัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดยมีเพื่อนครู (Buddy Teacher) และผู้อำนวยการสถานศึกษา (Administrator) ปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียน พร้อมทั้งบันทึกจุดเด่น จุดที่ควรพัฒนา และสภาพการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามสภาพจริงในชั้นเรียน ด้วยการจดบันทึก การถ่ายภาพ หรือถ่ายคลิปวีดิโอ โดยไม่เข้าไปให้คำแนะนำหรือรบกวนการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยเด็ดขาด

- ขั้น See หรือ Reflection เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายหลังการจัดการเรียนการสอนไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทีม PLC จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียนในชั่วโมงเรียน และให้ข้อคิดเห็นสะท้อนกลับ เพื่อให้ครูผู้สอน (Model Teacher) นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในการปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงนำบทเรียนที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันเพื่อนครู (Buddy Teacher) และ ผู้อำนวยการสถานศึกษา (Administrator) ก็จำได้รับบทเรียนที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพของการบริหารและการปฏิบัติงานในการส่งเสริมการเรียนรู้และการปฏิบัติงานของครูด้วยเช่นเดียวกัน

5.   การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำ LS 1 ในวันประชุมประจำเดือนของโรงเรียน ซึ่งผู้อำนวยการ

      สถานศึกษาจะเป็นประธานในการประชุม และเปิดโอกาสให้ทีม PLC ทุกทีมในโรงเรียนได้นำเสนอมุมมอง   

      ความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาพรวมของทั้งโรงเรียน

6.  ทีม PLC ปฏิบัติการ Lesson Study 2  (LS 2) ถึง Lesson Study 3  (LS 3) ในลักษณะเดียวกับ

 Lesson Study 1 (LS 1) ตามตารางที่กำหนด

 7.  ครูผู้สอนจัดทำรายงานเป็นรูปเล่ม สรุปผลการเรียนรู้จากการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study)

กระบวนการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 ขั้นวิเคราะห์(Analyze) เป็นการวิเคราะห์แบบรวมพลังในเนื้อหาที่จะจัดการเรียนรู้และวิเคราะห์ตัวชี้วัดมาตรฐานการเรียนรู้ ครูที่ทำหน้าที่ MT และ ครูที่ทำหน้าที่ BT วิเคราะห์ผู้เรียนหลักสูตรรายวิชาบริบทของสถานศึกษาและสร้างแบบแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกแบบรวมพลัง Co-5 Steps

ขั้นที่ 2 การวางแผนการจัดการเรียนรู้ (Plan)

1) จัดสถานที่เพื่อดำเนินการโดยมีบุคคลเข้าร่วมกลุ่ม PLC ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์

ครูที่ทำหน้าที่วิชาการ ครูที่ทำหน้าที่ MT ครูที่ทำหน้าที่ BT และผู้สังเกตการณ์

2) ครูที่ทำหน้าที่ MT นำเสนอแผนการจัดการเรียนรู้ต่อกลุ่ม PLC

3) กลุ่ม PLC ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ เช่น

- ความเหมาะสมและความถูกต้องของจุดประสงค์การจัดการเรียนรู้ครอบคลุมทั้ง K P A หรือไม่

- การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

- การประเมินมีความหลากหลายสอดคล้องกับกิจกรรมตรงตามจุดประสงค์

- ความเหมาะสมของสื่อการสอน แหล่งเรียนรู้กับสาระที่สอน

- การบริหารจัดการเวลา

4) ครูที่ทำหน้าที่ MT และ ครูที่ทำหน้าที่ BT บันทึกและประเมินแผนการจัดการเรียนรู้

ตามข้อเสนอแนะ

ขั้นที่ 3 ขั้น Do & See

1) ครูที่ทำหน้าที่ MT จัดการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ครูที่ทำหน้าที่ BT สังเกต

การจัดการเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ เช่น

- การจัดการเรียนรู้บรรลุตามจุดประสงค์การเรียนรู้ครบทั้งด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ

คุณลักษณะอันพึงประสงค์และเจตคติหรือไม่

- ผู้เรียนได้เรียนรู้ครบทุกคนหรือไม่ และมีผู้เรียนที่ไม่ได้เรียนรู้เพราะเหตุใด

- สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนคืออะไร

- พฤติกรรมการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของผู้เรียนเป็นอย่างไร

- ครูที่ทำหน้าที่ MT สอนตามแผนที่วางไว้หรือไม่

- ความเหมาะสมของสื่อและแหล่งเรียนรู้กับสาระที่สอน

- มีการประเมินที่หลากหลายเหมาะสมและสอดคล้องกับกิจกรรมรวมทั้งตรงตามจุดประสงค์

การเรียนรู้หรือไม่

- การบริหารจัดการเวลาในการจัดการเรียนรู้แบบ Co-5 Steps เป็นอย่างไร

2) ผู้สังเกตการณ์ในการจัดการเรียนรู้เน้นสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น การมีส่วนร่วม

ในการทำกิจกรรม สีหน้าท่าทางการ ตอบคำถาม ไม่เน้นสังเกตการสอนของครู

3) การบันทึกข้อมูลและการถ่ายภาพ/ วีดิโอ

- บันทึกข้อมูลตามลำดับ

- การถ่ายวีดิโอ สามารถจับปฏิกิริยาของผู้เรียนได้ดีที่สุด ในการสะท้อนความสนใจของผู้เรียนที่มีต่อ

การจัดการเรียนของครูและไม่เผยแพร่ทางสังคมออนไลน์

4) ขณะที่ครูที่ทำหน้าที่ MT กำลังจัดการเรียนรู้ผู้สังเกตการณ์ต้องไม่พูดคุยกับผู้เรียนหรือผู้อื่น

ไม่ยืนบังครูและผู้เรียนที่กำลังเรียน

ขั้นที่ 4 ขั้นสะท้อนคิด Reflact และการปรับปรุง

การสะท้อนคิด reflact รวมพลังสะท้อนคิดด้วยการสนทนาแบบสุนทียสนทนา ควรใช้การพูดที่เน้นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เน้นการชมเชยเพื่อพัฒนา โดยเน้นที่ผลลัพธ์ของนักเรียนและเพิ่มเติมแผนการจัดการเรียนรู้ให้มีความสมบูรณ์โดยมีขั้นตอน คือ

1) สะท้อนการจัดการเรียนรู้

- ครูที่ทำหน้าที่ MT สะท้อนการจัดการเรียนรู้ของตนเองประมาณ 2-3 นาที

- ครูที่ทำหน้าที่ BT สะท้อนการจัดการเรียนรู้ของครูที่ทำหน้าที่ MT

- ทีม PLC ได้แก่ศึกษานิเทศก์ผู้บริหารสถานศึกษา ครูฝ่ายวิชาการ สะท้อนการจัดการเรียนรู้ของครู

ที่ทำหน้าที่ MT

- ผู้สังเกตการณ์แสดงความคิดเห็นสิ่งที่ได้รับและการนำไปใช้ประโยชน์

2) ประเด็นในการสะท้อนคิดสำหรับกลุ่ม PLC หลังจากการสังเกต

- ผู้เรียนเรียนรู้หรือไม่

- เหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน

- แก้ปัญหาผู้เรียนที่ไม่ได้เรียนรู้อย่างไร

- การบริหารเวลาในแต่ละช่วงของการจัดการเรียนรู้

- การจัดการชั้นเรียนและการเสริมแรงผู้เรียน

3) ครูที่ทำหน้าที่ MT นำข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับปรุง

ขั้นที่ 5 Redesign เป็นขั้นที่ชุมชนแห่งการเรียนรู้นำข้อมูลจากการสะท้อนคิดแบบรวมพลัง มาแนะนำให้ผู้สอนปรับแผนการจัดการเรียนรู้ในฉบับนั้นและแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบของการเขียนแผน โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่เพื่อแก้ปัญหานักเรียนให้ได้ผลลัพธ์ตามกำหนด

 8.    จัดกิจกรรมสัมมนาวิชาการ ให้ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ (Symposium) ทั้งในระดับโรงเรียนและในเครือข่ายโรงเรียนเดียวกัน


ผลจากการปฏิบัติ

1.     นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาผ่านเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

2.     โรงเรียนมีคะแนนเฉลี่ย   RT ป.1  รวม 2 ด้าน ผ่านระดับสังกัด ระดับประเทศ

3.     โรงเรียนมีคะแนนเฉลี่ย   NT ป.3  รวม 2 ด้าน ผ่านระดับสังกัดและระดับประเทศ

4.  โรงเรียนมีคะแนนเฉลี่ย  O-NET ป.6  ผ่านระดับสังกัด ระดับประเทศรายวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

 

ด้านครูสอน

1. สร้างความเป็นเพื่อนร่วมงานของครูและมีการทำงานแบบร่วมมือรวมพลังผ่านการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน

2. ครูมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันในการออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักเรียนรวมไปถึงการแก้ปัญหาด้านนอื่น ๆ เช่น ปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน

3. ครูพัฒนาทักษะการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์ตัวชี้วัดในมาตรฐานการเรียนรู้และเข้าใจแก่นของเนื้อหาสาระ ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างแท้จริง

4. ครูมีความมั่นใจในการสอนมากขึ้นที่สำคัญ คือ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะมีเพื่อนช่วยคิด ความสัมพันธ์ระหว่างครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน ต่างกลุ่ม ต่างระดับชั้น เพิ่มความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างเพื่อนร่วมการปฏิบัติงาน

5. ครูเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง

6) มีความกระตือรือร้น มีวิธีการจัดการเรียนรู้อย่างหลากหลาย และเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

7) มีสื่อ นวัตกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยพยายามผลิตสื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ

8) มีวิธีการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้

9) สามารถปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน

 

 ด้านผู้เรียน

1) มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ สนใจในการเรียน สนุกกับการเรียน

2) ทำงานแบบร่วมมือรวมพลัง เป็นผู้เรียนเชิงรุกจากการที่ทุกคนต้องได้ลงมือปฏิบัติ และร่วมแสดงความคิดเห็น รู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง และสร้างความรู้

3) กล้าแสดงออก

4) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม

5) ให้ความร่วมมือต่อการจัดการเรียนรู้

6) มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้

7) รู้จักแบ่งปันมีการช่วยเหลือกันระหว่างผู้เรียนกลุ่มเก่งและกลุ่มอ่อน

 

ด้านผู้บริหารสถานศึกษา

1. ผู้บริหารสื่อสารและการทำงานแบบร่วมมือแบบรวมพลังอย่างใกล้ชิดมากขึ้นมีความเป็นกันเอง ทำงานแบบกัลยาณมิตร

2. ผู้บริหารได้พัฒนาบทบาทของการเป็นผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยความร่วมมือร่วมใจของครูและบุคลากรทุกคน ส่งผลให้สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพบรรลุตามเป้าหมายของสถานศึกษาและตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร

3. เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนร่วมมือรวมพลัง เป็นผู้ร่วมเรียนรู้ พูดคุยกันแบบสุนทรียสนทนา เปิดใจที่จะรับฟังกันมากขึ้น และช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการปฏิบัติงาน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากการดำเนินกิจกรรมปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนด้วยกระบวนการ  PLC พบว่า ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และยังได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ในส่วนของครูผู้สอนมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนร่วมกัน (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง) เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ยกระดับความสามารถครูในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ ยกระดับความสามารถครูในการพัฒนานวัตกรรม และครูมีนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ด้านโรงเรียน พบว่า เกิดระบบการทำงานที่เข้มแข็ง จะเห็นได้ว่า ในการทำ PLC เป็นการแลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ และช่วยเหลือกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร ทั้งนี้ หัวใจหลักสำคัญในการทำ PLC คือ การพูดคุยสื่อสารร่วมกันภายในองค์กร การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นและมีความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้ การทำงานเป็นทีม และมีที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำ เติมเต็มในการพัฒนาการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายของสถานศึกษา เครือข่ายของเพื่อนครู ในการร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน โดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ครู และโรงเรียน

 

การเผยแพร่/การได้รับการยอมรับและ/หรือรางวัลที่ได้รับ

          การเผยแพร่กิจกรรม PLC ซึ่งจะมีการเผยแพร่ โดยการนำเสนอผลงานในการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดจากนวัตกรรมการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ตลอดจนการเผยแพร่กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ  PLC ในรูปแบบ Online ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ Facebook โรงเรียน Group Line ห้องเรียน เป็นต้น

การได้รับการยอมรับ : คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาตลอดจนชุมชนมี ความพึงพอใจต่อการดำเนินการโครงการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ซึ่งช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET ) ผลการทดสอบ RT NT ได้เป็นอย่างดี และเห็นผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้จริง


เอกสารเพิ่มเติม :[ดาวน์โหลดเอกสาร]