สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Department of Education
หน้าแรกรายละเอียดสถานศึกษาสภาพชุมชนโดยรอบ

สภาพชุมชนโดยรอบ

ลักษณะชุมชน
ชุมชนวัดราษฎร์บำรุงตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “คลองสอง” หมู่ที่ 8 แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร สภาพชุมชน เป็นชุมชนชานเมืองมีความจริงใจ เรียบง่าย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา การอยู่อาศัยเงียบสงบ ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามบริเวณริมฝั่งคลอง วัดเป็นศูนย์กลางการร่วมปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนและปฏิบัติศาสนกิจ โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุง ตั้งอยู่ติดกับวัดราษฎร์บำรุงห่างจากถนนสายหลัก คือ ถนนสุวินทวงศ์ประมาณ 1 กิโลเมตร และใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ถนนที่ใช้สัญจรเข้าโรงเรียนมีการพัฒนาขึ้นโดยราดยางถนนตั้งแต่ปากซอยธรรมรัฐจนถึงหน้าโรงเรียนการเดินทางสะดวก โอกาส โรงเรียนอยู่ใกล้วัดและได้รับการสนับสนุนจากกรรมการสถานศึกษา พระสงฆ์ และชุมชน ข้อจำกัด ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำและให้การสนับสนุนโรงเรียนได้น้อย และไม่มีเวลาในการดูแลนักเรียน สภาพปัญหาของชุมชน ชุมชนของโรงเรียนวัดราษฎร์บำรุงเป็นชุมชนชานเมืองมากปัญหาที่กระทบต่อภาพรวมของชุมชนในด้านการจัดกิจกรรมการศึกษาอยู่ 4 ประการ คือ 1) ปัญหาสภาพแวดล้อม เดิมชุมชนของโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดีมาก โรงเรียนตั้งอยู่ติดกับวัด มีการกั้นอาณาเขตออกจากกันอย่างชัดเจน ด้านหลังและด้านข้างติดกับที่นาของชาวชุมชน ด้านหน้าเป็นลานกีฬา และที่จอดรถของวัด ซึ่งได้ปรับปรุงให้มีภูมิทัศน์สวยงามและร่มรื่น ส่วนด้านข้างใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม 4 โรง มีปัญหาลมพิษด้านน้ำเน่าเสียที่ถูกปล่อยลงสู่คลองสาธารณะและบางครั้งส่งกลิ่นเหม็น คนในชุมชนปัจจุบันไม่ใช่คนในชุมชนดั้งเดิม เป็นคนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น จึงค่อนข้างขาดระเบียบวินัย และขาดการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม 2) ปัญหาเรื่องการคมนาคม แต่เดิมคนในชุมชนใช้การสัญจรทางน้ำ โดยใช้เรือเป็นยานพาหนะในการเดินทาง แต่ปัจจุบันด้วยสภาพความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยี คนในชุมชนจึงใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ในการเดินทางเป็นหลัก และด้วยเหตุที่มีถนนซึ่งอยู่ติดกับลำคลองมีลักษณะแคบ ๆ ใช้เป็นเส้นทางลัดจากโรงเรียนออกไปสู่ถนนอยู่วิทยา รถยนต์สามารถขับหลีกกันได้อย่างระมัดระวัง ผู้ปกครอง นักเรียนและประชาชนส่วนใหญ่ต้องอาศัยเส้นทางนี้ในการเดินทาง นักเรียนใช้สำหรับขี่รถจักรยานมาโรงเรียน สภาพถนนไม่มีไหล่ทาง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ก็ขับขี่กันอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง 3) ปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นของประชาชน ชุมชนของโรงเรียนมีโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการย้ายถิ่นของประชาชนจากต่างจังหวัดเข้ามาหางานทำในโรงงานดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม เกิดสภาพแออัดในเรื่องที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะปัญหาบุตรหลานที่ย้ายติดตามผู้ปกครองมาหางานทำ เมื่อเข้ามาเรียนจะมีปัญหาการขาดหลักฐานจากโรงเรียนเดิม หลักฐานทะเบียนราษฎร เกิดสภาพครอบครัวแตกแยก ปัญหาสุขภาพอนามัยของนักเรียนที่ขาดสารอาหาร การเรียนอ่อน ย้ายโรงเรียนบ่อย ขาดความต่อเนื่องในการเรียนของนักเรียน 4) ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เดิมชุมชนวัดราษฎร์บำรุงเป็นชุมชนเกษตรกรรม ประชาชนมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว ชาวชุมชนใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้และกินของที่เลี้ยง ปลูก หรือหาได้เอง ไม่ค่อยจับจ่ายสิ่งใด อาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน การใช้เครื่องมือทุ่นแรงจึงมีความจำเป็น เป็นอย่างมากทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวตามมา ยิ่งมีประชาชนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่นมาอยู่ร่วมด้วยแล้ว การทำมาหากินแบบเดิมก็เปลี่ยนไปการมีชุมชนใหญ่เกิดขึ้นลักษณะการทำมาหากินก็มีหลากหลายรูปแบบเกิดการแย่งกันกินแย่งกันใช้ ทำให้ความไม่ “พอดี” เกิดขึ้น ปัญหาอื่นจึงตามมามากมาย

อาชีพส่วนใหญ่ของผู้ปกครอง
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างมีรายได้เฉลี่ย 5,000 – 10,000 บาท

ศาสนา/วัฒนธรรม/ประเพณี
ประชาชนดั้งเดิมมีเชื้อสายรามัญ (มอญ) นับถือศาสนาพุทธ มีประเพณีที่ยังคงยึดถือมาจนถึงทุกวันนี้หลายอย่าง เช่น ประเพณีการบวช ประเพณีงานศพ เป็นต้น แต่ปัจจุบันประเพณีเหล่านี้นับวันจะสูญหายไป เพราะคนรุ่นเก่าจะหมดไปจากชุมชน วัฒนธรรมเก่าก็ถูกกลืนไปด้วย